
นายเศกสรรค์ สุมนตรี ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนฯ และที่ปรึกษา ชุดประสานงานกองทัพพรรคมอญใหม่ (NMSP/MNLA) ได้ออกมาให้ข้อมูล กรณีที่เมื่อวานนี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติฯ ได้โพสต์ภาพ และ ข้อความระบุว่า กล้องดักถ่ายสัตว์ของอุทยานฯ จับภาพ ‘ทหารรัฐมอญ’ ถืออาวุธสงครามจำนวน 4 คน เดินอยู่บริเวณต้นน้ำเพชรบุรี

โดยนายเศกสรรค์ ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับกองพลทหารราบที่ 9 และ คนในพื้นที่ ได้ข้อมูลตรงกัน ว่าบุคคลในภาพที่นายชัยวัฒน์กล่าวอ้าง ไม่ใช่ทหารมอญแต่อย่างใด
ด้าน ‘กองทัพมอญ’ ก็ได้รับรู้เรื่องนี้แล้ว และ ยืนยันว่าไม่ใช่ทหารมอญ และไม่ทราบเจตนาของนายชัยวัฒน์ว่า การออกมาให้ข้อมูลเชื่อมโยงกับทหารมอญเช่นนี้ มีจุดประสงค์อะไร
อีกทั้งยังระบุว่า โพสต์ของนายชัยวัฒน์ และ ข้อมูลที่นักข่าวสำนักต่างๆ นำไปเผยแพร่ต่อนั้น ผิดพลาดหลายประการ โดยมีความเห็นแย้งดังนี้
1.กองกำลังมอญ มีพื้นที่ประจำการอยู่บริเวณเจดีย์สามองค์ สังขละบุรี ทวาย ส่วนพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี เป็นพื้นที่ของกองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยง การที่นายชัยวัฒน์อ้างว่า บุคคลในภาพคือ ‘ทหารมอญ’ จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
2. อาร์มใหญ่ทรงโล่ (อาร์มเครื่องหมายทหาร) ที่กล่าวอ้าง ไม่ใช่โลโก้ ทางการทหารของกองทัพมอญ แต่เป็นเครื่องหมายทหารกองทัพพม่า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทหารมอญแต่อย่างใด
3.ในส่วนที่นายชัยวัฒน์อ้างว่า บุคคลในภาพนุ่งโสร่ง ทหารมอญจะไม่พกโสร่งเข้าป่า เพราะโสร่งของทหารมอญเป็นสีแดง หากพกเข้าป่า ก็พรางตัวไม่ได้ ทหารพม่าส่วนใหญ่ก็นุ่งโสร่ง และ พกโสร่งเพื่ออำพรางด้วย เช่น เวลาทหารพม่าไปเจอกองกำลังอื่น ๆ ในป่า บางทีก็เอาปืนกับชุดทหารซุกไว้ แล้วเปลี่ยนมานุ่งโสร่งทำทีมาหาของป่า
“คุณชัยวัฒน์เองก็ไม่ได้บอกเหตุผลว่าลักษณะของทหารมอญคืออะไร? บอกแค่ว่ามีโสร่ง ซึ่งทหารมอญเขาไม่พกโสร่งเข้าป่าอยู่แล้ว เพราะโสร่งมอญเป็นสีแดง หากพกเข้าป่าก็พรางตัวไม่ได้”
4. ปืนที่นายชัยวัฒน์กล่าวอ้างว่า บุคคลในภาพถือ อาทิ ปืนคาร์บิน, ปืน m1917 enfield, ปืน Sporter Enfield No4 Mk1 นั้น ปืนเหล่านี้เป็นปืนเก่ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เลิกผลิตไปแล้ว กลุ่มทหารที่มักใช้ปืนเหล่านี้จึงมักเป็นหน่วยแทรกซึมหาข่าว ไม่ใช่หน่วยที่ต้องปะทะ เพราะไม่ต้องเสียดายปืนหากพบเจอสถานการณ์จวนตัว หรือเจอกองกำลังอื่น ๆ แล้วต้องทิ้งปืน หรือฝังซ่อนปืนแล้วพรางตัวเป็นชาวบ้าน แม้กองทัพมอญจะไม่ใหญ่ แต่อาวุธไม่ได้ล้าหลังอะไรขนาดนั้น เขาใช้ M16 ทั้งนั้น
คิดว่าบุคคลในภาพดังกล่าวอาจเป็นหน่วยลาดตระเวนของกองทัพพม่า หมายถึง หน่วยตระเวนหาข่าว และ อาจจะมาหาสัตว์ หาเสบียง เพราะคนกลุ่มนี้มักใช้ปืนเก่า ๆ
และนายเศกสรรค์ ยังทิ้งท้ายชวนคิด ถึงการทำงานของสื่อมวลชนหลายสำนัก ที่หยิบยกประเด็นของนายชัยวัฒน์ ไปสื่อสารต่อ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่หาข้อมูลรอบด้าน และตั้งคำถามถึงนายชัยวัฒน์ ที่ใช้คำว่า ‘กะหร่าง’ ส่ออคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชัดเจน รวมถึงการโยงข้อมูล โดยไร้หลักฐานที่มีน้ำหนักไปยังทหารมอญ ว่ามีเจตนาอย่างไรกันแน่?
“ความอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ของคุณ คุณหลับหูหลับตาอคติ โยนไปว่าเป็นทหารมอญบ้าง ทหารกะเหรี่ยงบ้าง จนมันบดบังไปว่า หากบุคคลในภาพเป็นทหารกองทัพพม่าที่มาจ่อคอหอยเราแล้วจริงๆ เรื่องนี่สิน่ากลัว แล้วคุณยังไม่สนใจ ยังเล่นการเมืองโยงมั่วแบบนี้อีกหรือ?”


โดยเมื่อวานนี้ 24 เมษายน 2568 เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รายงานข้อมูลว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงทรัพยฯ ได้สั่งการไปยัง กรมอุทยานฯ ประสานงานกับฝ่ายทหารเพื่อร่วมตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยสั่งการไปยัง กรมอุทยานฯ ประสานงานกับฝ่ายทหาร เพื่อร่วมตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยจากการนำภาพมาวิเคราะห์ พบว่า บุคคลดังกล่าว พกพาอาวุธหลายประเภท ได้แก่
คนที่ 1 ใช้ปืนคาร์บิน เอ็ม 1 ซึ่งเป็นปืนที่ใช้กระสุน .30-03
คนที่ 2 ใช้ปืน M1917 Enfield และ อีก 2 คนใช้ปืน Sporter Enfield No4 Mk1 ซึ่งเป็นปืนสำหรับซุ่มยิง ใช้กระสุนขนาด 5.56 มม.
ทั้งนี้ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการเข้ามาของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เนื่องจากภาพที่ปรากฏในกล้อง บอกเวลาว่าเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 ซึ่งขณะนี้น่าจะเดินทางกลับออกไปแล้ว หากเป็นทหารจากประเทศเพื่อนบ้านจริง ถือเป็นการรุกล้ำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยตรง โดยพื้นที่ที่พบบุคคลติดอาวุธนั้นห่างจากชายแดนไทย-เมียนมาประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งหากใช้การเดินเท้าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 คืน
สรุปได้ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นใคร และมีวัตถุประสงค์อะไรในการเข้าสู่พื้นที่
ขณะเดียวกัน นายวุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการอิสระด้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้โพสต์ข้อความ ระบุเหตุผลว่า ข้อมูลที่ชัยวัฒน์ พยายามโยงใยไปยังทหารมอญดังกล่าว ‘ไม่มีน้ำหนัก’ ดังนี้
- พื้นที่ตรงข้ามของจุดที่จับภาพชาย 4 คนนั้น ไม่ใช่พื้นที่ของรัฐมอญ เพราะกองกำลังมอญเคลื่อนไหวทางเหนือของเมืองทวาย เมืองเย ตรงข้ามเจดีย์สามองค์ตันบูเซยัตขึ้นไป
- พื้นที่ตรงข้าม ไม่ใช่พื้นที่สู้รบหรือมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายทหารพม่า จึงไม่มีเหตุที่จะมีการเคลื่อนไหวการขนส่งเสบียงของกองกำลังใดๆ
- สถานการณ์สู้รบฝ่ายต่อต้านสามารถกุมสภาพพื้นที่และเคลื่อนในที่ราบและเขตชนบท ไม่มีเหตุต้องใช้เส้นทางเดินป่า ฝ่ายต่อต้านบางกลุ่มจะใช้เส้นทางน้ำเมื่อมีความจำเป็นคือแม่น้ำตะนาวศรี ซึ่งสะดวก รวดเร็ว ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นเขาเดินป่าตามแนวชายแดน
- ลักษณะอาวุธ ถ้าเป็นกองกำลังทางทหาร ต้องเป็นอาวุธสงคราม เช่น เอ็ม 16 ที่ฝ่ายต่อต้านเช่นกะเหรี่ยงใช้กัน
- ชุดที่เห็นไม่ได้บ่งบอกได้ว่าเป็นชุดนักรบ เช่น เป้สนาม ลักษณะเครื่องแบบ หมวก เครื่องหมาย การเคลื่อนไหวของกองกำลังต่อต้านกองทัพพม่า จะอยู่บริเวณเมืองตะนาวศรี ด่านสิงขร ระนอง ปกเปี้ยน
ถ้าจะกล่าวอ้างว่า บุคคลในภาพเป็นทหารกะเหรี่ยงนั้น ก็ไม่มีน้ำหนักเช่นกัน เพราะทหารพม่าได้ถอนกำลังออกจากฐานบนแนวสันแดน บริเวณที่เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอกตก นั่นจึงไม่มีเหตุผลหรือน้ำหนักที่จะเชื่อได้ว่าเป็นกองกำลังใดกองกำลังหนึ่ง
ขอบคุณที่มา >> ไทยรัฐออนไลน์