รู้แล้ว! ที่มาของ แสงสีเขียว บนท้องฟ้า พะเนินทุ่ง

ฮือฮา! ภาพท้องฟ้า พะเนินทุ่ง มี แสงสีเขียว คล้ายออโรร่า ล่าสุดมีคำตอบแล้ว

ไม่ต้องไปไกลถึงไอซ์แลนด์ เพราะที่ พะเนินทุ่ง ก็มีแสง(เหนือ)ให้ดู

เมื่อค่ำคืนของวันที่ 3 พ.ย. 66 โซเชียลแห่แชร์ภาพท้องฟ้าสีเขียวที่มองดูแล้วคล้าย แสงเหนือ มากๆๆๆๆๆ และที่มันฮือฮาก็เพราะว่า ภาพถ่ายนี้ ถ่ายที่เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

โดยเฟซบุ๊กเพจ เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้โพสต์ภาพท้องฟ้าดังกล่าว พร้อมระบุข้อความว่า…

แสงเหนือ หรือ แสงสีเขียว

แสงสีเขียวไม่รู้มาจากไหนแต่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเปิดท่องเที่ยวพะเนินทุ่งพอดีเลย

#แอดก็เพิ่งเคยเห็นแสงแบบนี้เป็นครั้งแรก #ท่านใดมีข้อมูลคอมเม้นบอกกันได้เลยครับ

#เขาพะเนินทุ่ง #แก่งกระจานป่ามรดกโลก

โอ้โหหห เห็นภาพยังสวยขนาดนี้ ถ้าได้เห็นกับตาจริงๆ จะยิ่งสวยเบอร์ไหน

แน่นอนว่า หลายๆ คนที่เห็นภาพนี้ ต่างมีคำถามว่ามันคือแสงอะไร ไม่เคยเห็นว่าเกิดที่พะเนินทุ่ง หรือจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ

ซึ่งเรื่องนี้ ทางอีจัน ได้สอบถาม นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

โดยนายมงคล เผยว่า ภาพดังกล่าวถ่ายช่วง21.00 – 23.00 น. วันที่ 3 พ.ย.66 จุดหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยาน กจ.19 เขาพะเนินทุ่ง และบนชมวิว

คาดว่าเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง จากปรากฎการณ์ “หมวกเมฆสีรุ้ง” ที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน

สำหรับ ปรากฏการณ์ หมวกเมฆสีรุ้ง นั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า

เมฆที่เรามองเห็นทั่วๆ ไปนั่นคือกลุ่มของละอองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากการควบแน่นของความชื้นในอากาศ เมฆที่อยู่สูงนั้นจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ทำให้ละลองน้ำกลายเป็นกลุ่มของน้ำแข็งขนาดเล็ก ผลึกของน้ำแข็งจะสะท้อนแสงทำให้เรามองเห็นเป็นก้อนขาวๆ ถ้ามีความหนาแน่นของละอองน้ำในก้อนเมฆมากๆ อาจจะเห็นเป็นเมฆสีเทา บางครั้งก้อนเมฆก็มีแสงสีรุ้งเกิดขึ้น บางครั้งมีลักษณะเป็นหมวกอยู่ด้านบนก้อนเมฆ

หมวกเมฆ หรือ Pileus มีลักษณะเป็นเมฆบางๆ ที่ลอยอยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ เช่น เมฆคิวมูโลนิมบัส คอนเจสทัส (Cumulonimbus Congestus) หรือเมฆฝนฟ้าคะนองที่เริ่มก่อตัวใหม่ๆ ในขณะที่ก้อนเมฆขนาดใหญ่ดังกล่าวนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้อากาศที่อยู่เหนือยอดเมฆก้อนถูกผลัก ให้พุ่งสูงขึ้นไปด้วย หากอากาศที่ถูกผลักขึ้นไปนี้มีความชื้นเพียงพอและมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดน้ำค้าง (Dew Point) ไอน้ำในอากาศก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำขนาดเล็กๆ จำนวนมาก และเมื่อมองโดยรวม จะมีลักษณะเหมือน หมวกเมฆ นั่นเอง

เมฆสีรุ้ง เรียกว่า Iridescence เกิดจากที่แสงอาทิตย์สีขาวไปตกกระทบ กับเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ที่อยู่เหนือยอดเมฆ เมื่อแสงตกกระทบหยดน้ำ จึงทำให้เกิดการหักเหเปลี่ยนทิศทางไปจากแนวเดิม แต่แสงสีต่างๆหักเหได้ไม่เท่ากัน ทำให้แสงสีขาวแตกออกเป็นสีรุ้ง และเนื่องจากในเมฆจางๆ จะมีเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ไม่เท่ากัน   ทำให้สีรุ้งสีหนึ่ง (เช่น สีเขียว) ที่หักเหออกจากเม็ดน้ำขนาดหนึ่งๆ ซ้อนทับกับสีรุ้งอีกสีหนึ่ง (เช่น สีเหลือง)   ที่มาจากเม็ดน้ำอีกขนาดหนึ่ง จึงทำให้มองเห็นสีรุ้งมีลักษณะเหลือบซ้อนทับกันอย่างสลับซับซ้อน บางครั้งคล้าย     สีรุ้งบนผิวไข่มุก บางทีก็ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ปรากฏการณ์สีรุ้งอาจเกิดในเมฆจางๆ บนท้องฟ้า โดยที่ไม่ต้องมีเมฆก้อนใหญ่ (อย่างเมฆฝนฟ้าคะนอง) มาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ แต่ที่พบบ่อยคือ สีรุ้งที่อยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า