สุดสงสาร! พังธันวา ลูกช้างป่าพลัดหลงตกเขา เฝ้าดูอาการใกล้ชิด

หมอล็อตและทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ เฝ้าดูแลรักษา พังธันวา ลูกช้างป่าพลัดหลงตกเขาอย่างใกล้ชิด เป็นแผลถลอก ระบมทั้งตัว

หมอล็อต หรือ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผอ.กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โพสต์รูปภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นการรักษาเจ้า พังธันวา ลูกช้างป่าพลัดหลง ตกจากเขา

โดยหมอล็อต ระบุว่า 

“ทุเรียนไร้หนาม คือ ทุเรียนที่กลิ้งตกจากเขา” ร่องรอยบาดเจ็บที่แท้จริงของ พังธันวา ก็น่าจะประมาณนั้น เอามือแตะตรงไหนก็ร้อง จะนับบาดแผล รอยถลอก รอยฟกช้ำ ระบม ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนดี โชคดีกระดูกไม่หัก ดูภาพเอาแล้วกัน

ที่สำคัญน้องสู้มากๆ จะลุก จะยืน จะเดิน จะนอน ก็จะระบมไปหมด ต้องประคับประคองและระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อน

ให้กำลังใจน้องธันวาและเจ้าหน้าที่ทุกคนกันครับ

ทั้งนี้ การดูแลรักษาพังธันวา ลูกช้างป่าพลัดหลง เมื่อวานนี้(8 ธ.ค. 65) นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก, สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก, สพ.ญ.มาริษา ชุ่มวิจิตร นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า รายงานการดูแลรักษา ว่า น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ ผอ.กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เข้าร่วมวางแผนงานการรักษากับทีมสัตวแพทย์ ในการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสัตว์ รักษาความสะอาดให้ถูกสุขอนามัย ในการดูแลอย่างสม่ำเสมอ และจัดตารางเวรทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานฯ เพื่อดูแลรักษาต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางการรักษา

ส่วนการรักษาพังธันวา ตอนนี้ทีมคุณหมอทำการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ และใต้ผิวหนัง ให้กินนมผงชนิด Enfalac ผสมยาขับลมชนิดไกรวอเตอร์ ทุก 2 ชม. เน้นกินน้อยแต่บ่อยครั้ง (กินปริมาณน้อยครั้งละ 400 มิลลิลิตร เนื่องจากกังวลสภาวะท้องอืดที่อาจจะเกิดตามมาได้ ถ้าให้ปริมาณมากเกินไปในแต่ละครั้ง) ให้วิตามินบำรุงแบบฉีดเข้ากล้าม ให้เกลือแร่ ชนิด ORS แบบกิน และให้พังธันวาเดินออกกำลังกายบนสนามหญ้าแบบไม่หักโหม (เช้า-เย็น) เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ป้องกันอาการท้องอืด ระบบขับถ่ายยังคงมีอาการถ่ายเหลว และมีเนื้ออุจจาระเล็กน้อย (รอปรับสภาพระบบทางเดินอาหาร) มีแรงในการเดินมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น แต่ยังคงต้องประคองเดิน มีแรงในการลุกนั่ง ลุกยืนมากขึ้นจากเดิม โดยหมอได้ทำการเลเซอร์รักษาแผลบริเวณใบหน้า และลดอักเสบ ลดบวม ของแผลบริเวณสะดือ ส่วนแผลตามลำตัวอื่นๆ แห้งดีแล้ว จากการยิงแสงเลเซอร์รักษา ระยะเวลา 2 วัน และได้เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ อยู่ระหว่างการรอผลการตรวจเลือด

โดยทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า พังธันวา อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

คลิปอีจันแนะนำ
คิดถึงเสมอ แม้พ่อไม่อยู่แล้ว