ปคบ. จับ นารา เครปกะเทย เซ่นขายอาหารเสริมผสมสารอันตราย

ปคบ. รวบ นารา เครปกะเทย หลอกขายอาหารเสริมผสมสารอันตราย – เจ้าตัวอ้างเป็นแค่อินฟลูเอนเซอร์โฆษณา ไม่เกี่ยวกับการผลิต

ปคบ. จับ นาราเครปกะเทย 1 ในผู้ต้องหาตามหมายจับ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายผ่าน แพลตฟอร์มออนไลน์

วันนี้ (27 ก.ย. 65) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทลายขบวนการผลิตและ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลโพโรลิดีน)

โดยตรวจยึดของกลางได้ 20 รายการ จากการบุกตรวจค้น 7 จุด พร้อมจับกุมผู้ต้องหา ตามหมายจับ 3 ราย!

จากการสืบสวนทราบว่า บริษัท ชาร์มาร์เพอร์เฟค จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างให้โรงงานแห่งหนึ่งรับผลิต ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฯ มีส่วนผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) หลังได้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบพร้อมจำหน่าย

จึงได้มาติดต่อว่าจ้างให้ นายอนิวัต หรือ นารา เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายผ่าน แพลตฟอร์มออนไลน์ และมี นายเมธากร เป็นเจ้าของบัญชีธนาคาร รับโอนชำระค่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งนายเมธากร เกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับ นางนิชกานต์ เจ้าของบริษัท ชาร์มาร์

เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ผลิตและจำหน่าย วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) แต่อย่างใด จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับบุคคลทั้ง 3 ราย ดังนี้

1. นายเมธากร เจ้าของบัญชีธนาคาร

2. นายอนิวัต หรือ นารา อินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขาย

3. นางสาวนิชกานต์ เจ้าของบริษัท ชาร์มาร์ ผู้ว่าจ้างการผลิต

ข้อหา

ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท1 (2-ไดเฟนิลเมทิลโพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า

และบุกทลาย ยึดของกลาง ได้ทั้งหมด 7 จุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา – จังหวัดราชบุรี จำนวน 3 จุด – จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 2 จุด – จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1 จุด ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตและเก็บผลิตภัณฑ์ชาร์มาร์ กลูต้า พบอุปกรณ์ในการผลิตและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 18 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จำนวน 2 รายการ

ส่วนโรงงานที่รับผลิตนั้น เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับทั้งสองบริษัทต่อไป เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 31, 149 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เรื่อง วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1 (ลำดับที่ 15) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท1 พ.ศ. 2565 ฐาน “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท1 เพื่อการค้า” ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า 2-ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน (2-diphenylmethylpyrrolidine หรือ desoxy-D2PM) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท1 มีโรงงานผู้ผลิตลักลอบนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มมากขึ้นเหมือนไซบูทรามีน ซึ่งทั้ง 2 ตัวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท1 โดยกำหนดห้ามให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกและจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาต

ซึ่งสาร 2-ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน จะทำให้ผู้บริโภคมีอาการ ประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้ ส่วนไซบูทรามีน จะมีอาการตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว ซึ่งอาการที่เกิดในแต่ละคนสามารถแตกต่างกันได้

หากผู้บริโภคใช้อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคกลุ่มสาวๆ ที่หวังจะพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในการลดอ้วน หรือลดน้ำหนักว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดที่จะใช้ลดความอ้วนได้ การลดความอ้วนที่ถูกวิธี คือ การออกกำลังกาย งดแป้ง ทานผักผลไม้ หมั่นขยับตัวและกายบริหารระหว่างงานได้ซึ่งสามารถลดอาการ เหนื่อยล้าจากกการทำงานได้เช่นกัน

ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

คลิปแนะนำอีจัน
วิกฤต พายุโนรูกำลังมา ไทยน้ำเริ่มล้นตลิ่ง