ประวัติ “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” พระนักบุญแห่งแดนล้านนา

เรียนรู้ประวัติ “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” พระนักบุญแห่งแดนล้านนา

เรียนรู้ประวัติ “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” พระนักบุญแห่งแดนล้านนา

ครูบาถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2524 ที่บ้านปิงน้อย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรของ โยมพ่อสุข โยมแม่จำนง อุ่นต๊ะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 3 คน เป็นผู้ชายทั้งหมดคือ 1. นายนิเวศน์ อุ่นต๊ะ 2. นายนิรันดร์ อุ่นต๊ะ และ 3. ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อแรกที่ครูบาจะถือกำเนิดนั้น ขณะที่โยมแม่ตั้งครรภ์อุ้มท้องได้ฝันประหลาดไปว่า ได้รับผ้าขาวผืนใหญ่สีขาวนวลตา เมื่อพิจารณาก็รู้สึกชอบใจยิ่งนัก เพราะผ้าผืนนั้นขาวสะอาดไร้รอยเปื้อนใด ๆ จากนั้นโยมแม่ก็สะดุ้งตื่น แล้วได้นำความฝันนี้ไปเล่าให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง ซึ่งล้วนมีแต่คนบอกว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นฐานะทางบ้านของโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่สู้จะดีนัก เป็นชาวสวนเกษตรกร ปลูกผัก ปลูกไม้ เลี้ยงดูลูก ๆ

เมื่อวัยเด็ก “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” ท่านมีผิวพรรณผุดผ่อง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งโยมพ่อโยมแม่ได้ตั้งชื่อในวัยเด็กของครูบาว่า “เด็กชายเก่ง”

ซึ่งครูบาก็เก่งสมชื่อ นอกจากมีความจำเป็นเลิศและเรียนเก่งแล้ว ยังมีอุปนิสัยเป็นผู้ที่ชอบความสงบไม่ชอบเบียดเบียนผู้ใด จนครั้งหนึ่งอายุได้ราว 7- 8 ปีเกือบต้องเสียชีวิตเนื่องจากจิตใจอันประกอบไปด้วยความเมตาต่อสรรพสัตว์คือ ในครั้งนั้นครูบาได้เห็นชาวบ้านไปดักปลาก็เกิดความสงสารจึงคิดจะไปปล่อยปลาเป็นเหตุให้พัดตกน้ำโชคดีที่พี่ชายมาเห็นเหตุการณ์จึงเข้าช่วยเหลือได้ทัน และอุปนิสัยอีกประการในช่วงวัยเด็กของครูบาก็คือ ครูบามักจะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอยู่เสมอ บางครั้งก็นำไปวางไว้ตามกำแพง ร่มไม้ จนเพื่อนๆ ชอบล้อว่าอยากเป็น ตุ๊เจ้า หรือ ซึ่งครูบาก็ไม่เคยปฏิเสธหรือโกรธเพื่อน ๆ เลย

สมัยเด็กครูบาช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง เลิกเรียนก็ต้องมาช่วยแม่ปลูกผัก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย เก็บผัก ทำทุกอย่างบางครั้ง ตีหนึ่ง ตีสองต้องไปเก็บผักก็ช่วยท่านมาตลอด โยมแม่ก็เลยไม่ค่อยได้มีเวลาไปวัดท่านก็จะจัดสำรับให้ แล้วบอกให้ครูบาไปกับตาแทน ตาของครูบาชื่อ พ่ออุ้ยอิ่น จนครูบาสามารถสวดมนต์ไหว้พระได้ตั้งแต่เป็นเด็ก เท่าที่จำความได้สมัยเป็นเด็กอายุ 9-10 ขวบ ครูบาเป็นเด็กคนเดียวที่ไปวัด แล้วก็สามารถสวดมนต์ไหว้พระได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ

ด้านการศึกษาเล่าเรียน “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต”

ครูบามีความผูกพันกับวัดเป็นอย่างมา ขณะอายุได้ 12 ปี ครูบามักจะตามพี่ชายซึ่งเป็นขโยม (เด็กวัด) ไปที่ วัดชัยชนะ จ. ลำพูน เสมอ ๆ จึงทำให้มีโอกาสได้พบกับ ครูบาจันทร์ติ๊บ ญาณวิลาโส อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยชนะ ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งครูบาจันทร์ติ๊บผู้นี้นับได้ว่าเป็นพระผู้เรืองในวิทยาคุณในยุคนั้น ท่านได้สืบทอดวิทยาคมมาจากครูบาชุ่ม โพธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดวังมุย นั่นเอง ครูบาจันทร์ติ๊บเมื่อได้มาเห็นลักษณะของครูบาก็มองว่ามีวาสนาในทางธรรม ท่านจึงได้สอนศีลธรรมจรรยาต่างๆ ให้ และด้วยความที่ครูบาอ่อนน้อมถ่อมตัวเป็นคนเรียบร้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทำให้ครูบาจันทร์ติ๊บมีความรักใคร่ในตัวครูบามาก

ต่อมาจึงได้เริ่มสอนอักขระพื้นเมืองหรือที่เรียกว่า ตั๋วเมือง โดยท่านได้สอนพร้อมกับเด็กวัดอีกหลาย ๆ คน ซึ่งอักขระตัวเมืองคนอื่นที่เรียนเขาใช้เวลาเป็นเดือน แต่ครูบาสามารถอ่านออกได้ช่วงเวลาเพียงข้ามคืนเท่านั้น เรื่องนี้ถูกเล่าขานในกลุ่มผู้ที่ทราบเรื่องราว หนึ่งในนั้นคือ ครูบาตั๋น หรือตุ๊ลุงตั๋น ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภีรูปที่ 4 และเป็นประธานศูนย์เผยแผ่พุทธศาสนา วัดหวลก๋าน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตุ๊ลุงตั๋นท่านไม่เชื่อว่าครูบาจะสามารถเรียนตั๋วเมืองจนอ่านออกเขียนได้ในเวลาแค่ข้ามคืนท่านจึงเดินทางมาพิสูจน์ข่าวนี้ด้วยตนเอง ปรากฏว่าครูบาสามารถอ่านออกเขียนได้ในภาษาล้านนาจริงๆ ตุ๊ลุงตั๋นรู้สึกมีความชื่นชมในตัวของครูบามาก จึงได้มอบเงินเป็นรางวัลจำนวน 1,000 บาท

จากนั้นครูบาจันทร์ติ๊บก็ได้พร่ำสอนสั่งสอนถ่ายทอดวิชาการทั้งปวงให้กับครูบา และครูบาก็สามารถเรียนรู้วิชาทั้งปวงได้ในเวลารวดเร็ว สามารถลงอักขระ เลขยันต์ต่างๆ แทนครูบาผู้เป็นอาจารย์ได้ จนต่อมาครูบาจันทร์ติ๊บถึงกับเอ่ยปากพูดว่า “เด็กผู้นี้มีวาสนาทางธรรมสูงยิ่งนัก ต่อแต่นี้ไปเราขอตั้งชื่อเด็กชายผู้นี้ว่า อริยชาติ อันหมายถึง ผู้ที่มีภพชาติอันเป็นอริย นั่นเอง”

ชีวิตในวัยเด็กครูบาเริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนวัดชัยชนะ ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน จนจบชั้นประถมศึกษา จึงได้มาเรียนต่อโรงเรียนมัธยมที่ โรงเรียนสารภีวิทยาคม ซึ่งช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ป.6 นั้น ครูบามีความคิดอยากจะบวช ขอกับโยมแม่ว่าถ้าจบ ป.6 แล้วบวช โยมแม่บอกว่าเอาไว้ให้จบ ม.3 ก่อนแล้วค่อยบวช พอจบ ม.3 ก็คิดว่าจะได้บวชแล้ว แต่ก็ไม่ได้บวช โยมแม่บอกว่าเอาไว้ ม.6 ค่อยบวช เลยคิดว่ายังไงๆ ก็คงไม่ได้บวชแล้ว แต่พอครูบาเรียนถึงชั้น ม.4 รู้สึกมันวุ่นวาย อะไรๆ ก็วุ่นวาย ช่วงนั้นรู้สึกอยากจะบวชมากจริงๆ รู้ว่าต้องได้บวช ขอโยมแม่ๆ ก็ไม่ให้บวช เพราะครูบาเป็นความหวังของโยมแม่ เนื่องจากพี่ชายคนแรกพิการ เกิดมาได้เดือนหนึ่งก็เป็นไข้เลือดออกพาไปหาหมอ หมอก็ฉีดยาให้ร่างกายนั้นปกติดีแต่พิการ พี่ชายคนที่สองแต่งงานแล้วก็ไปอยู่ลำปาง ครูบาเป็นลูกคนสุดท้องอยู่กับโยมแม่ สมัยนั้นครูบาขอบวชโยมแม่ก็ไม่ให้บวช ท่านบอกว่า “คนขาดีมาอยู่กับกูไม่ได้พึ่งคงจะได้พึ่งคนขาไม่ดี เพราะคนขาดีมันไปกันหมดแล้ว” ซึ่งคนขาไม่ดีที่ว่าจะได้พึ่งนั้นมีอยู่คนเดียวคือโยมพี่ ทุกวันนี้เป็นจริงแล้วนะโยมแม่ก็ได้พึ่งเขาจริงๆ

พอครูบาเรียนที่โรงเรียนสารภีจบแล้ว ก็ได้บวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2541 ณ วัดชัยมงคล ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ขณะที่มีอายุ 17 ปี โดยมี พระครูภัทรปัญญาธร วัดศรีสุพรรณ จ.ลำพูน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูไพศาลธรรมานุศิษย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์และ พระครูวัดเจดีย์ขาว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งวัดชัยมงคลนี้สมัยก่อนครูบาชุ่ม โพธิโก ท่านเป็นเจ้าอาวาส แต่ครูบาไม่ได้เจอท่านหรอก เพราะท่านมรณภาพตั้งแต่ปี พ.ศ.2519

ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปีจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพัทธสีมาชัยมงคล (วังมุย) ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีพระครูภัทรปัญญาธร วัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” และได้จำพรรษอยู่ที่วัดพัทธสีมาชัยมงคล (วังมุย) โดยท่านได้มุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมเป็นหลักสำคัญ แต่ด้วยญาติโยมที่ได้รับประสบการณ์ในวิชาคาถาอาคม ความแคล้วคลาด ปลอดภัยเมตตา หลั่งไหลมาเป็นลูกศิษย์ไม่ขาดสาย

ต่อมาท่านได้รับอาราธนาจากญาติโยม อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มาจำพรรษา ณ วัดพระธาตุดงสีมา ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อครูบาอริยชาติ ได้มาจำพรรษา ท่านก็ได้บูรณะก่อสร้างอย่างรุดหน้า ทั้งบูรณะองค์พระธาตุที่เก่าแก่ทรุดโทรม ท่านได้นำญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาและใจบุญมาร่วมกันบูรณะ

“ครูบาอริยชาติ” ท่านเป็นผู้อนุรักษ์โบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบต่อดังที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้กระทำสืบต่อกันมา ท่านจึงได้บูรณะพระธาตุเจดีย์ โดยเฉพาะพระธาตุปางบวกแก้ว ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพระธาตุที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่อย่างมาก ซึ่งท่านได้บูรณะใหม่โบกฉาบเรียบร้อยทาสีขาว หุ้มทองจังโก้ปิดทองคำเปลวจนถึงคอระฆังเปลี่ยนยอดฉัตรใหม่ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนเศษก็บูรณะก็สำเร็จลุล่วง

นอกจากนี้ท่านยังได้ส่งเสริมทางด้านการศึกษา โดยให้ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน เพื่อช่วยเหลือสร้างสรรค์การศึกษาแก่เด็กที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์

ปัจจุบัน “ครูบาอริยชาติ” ได้มาสร้างวัดแห่งใหม่ ชื่อว่า “วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ” บนพื้นที่เนินเขาบ้านป่าตึง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย  โดยเริ่มวางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างเมื่อวีนที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับเดือนแปดเป็งของล้านนา ซึ่งตรวกับวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหก

สำหรับ “ครูบาอริยชาติ” ท่านได้ชื่อว่านักบุญแห่งแดนล้านนา เพราะท่านมีความเชื่อในศาสนาล้านนา ถ้าดูความเชื่อของคนล้านนาแล้วก็จะเห็นว่า มีความเชื่อเหมือนทิเบต เหมือนภูฏานมีความเชื่อแบบนั้น ครูบาดูแล้วล้านนาจะออกกึ่งมหายาน คือเชื่อการกลับชาติมาเกิด การระลึกชาติได้ ความเป็นผู้มีบุญ ดูอย่างพระที่มีอายุน้อยสมัยก่อน อย่าง ครูบาชุ่ม ครบาเทือง ครูบามนตรี ท่านดังมาก ๆ เลย เพราะคนล้านนาเชื่อว่าความเป็นผู้มีบุญ เกิดมาเป็นบุญ เป็นโพธิสัตว์ลงมาเกิด ลงมาโปรดคนให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสารอย่างเห็นครูบาทางเหนือบางครั้งอายุยังน้อย แต่มีความสามารถ มีบุญบารมีเยอะ เพราะเขาเชื่อแบบนั้น ครูบาดูแล้วเหมือนกันเลยคำว่า ครูบา ในล้านนานี้สมัยก่อนเป็นยศ จะมี สาติ สาตุ๊ สาตุ๊เจ้า ครูบาออกยาธรรม อย่างครูบานี้สมัยก่อนมีไว้เรียกพระที่มีพรรษาเกิน 50 พรรษาขึ้นไป ถ้าเป็นภาคกลางก็จะเรียกว่า มหาเถระ ก็เลยเป็นครูบาตอนเฒ่าตอนแก่ แต่เป็นสิ่งที่คนศัทธาแล้วเรียกกัน อย่าง ครูบาน้อย (หมายถึง ครูบาที่มีอายุน้อย) บางครั้งก็ศรัทธาด้วยบุญฤทธิ์ เกิดมาเป็นผู้มีบุญ ทำอะไรก็สำเร็จ อธิฐานอะไรก็สำเร็จ ใครมาขอพรอะไรก็สำเร็จ เกิดมามีบุญเรียกว่า บุญฤทธิ์

แล้วอีกอย่าง เป็นครูบาเพราะอิทธิฤทธิ์เวทมนต์คาถา อย่าง ครูบาจันต๊ะ ครูบาแอ ที่เก่งเรื่องคาถาอาคม เก่งเรื่องไสยศาสตร์ ทำเทียน ทำน้ำมนต์ ก็เป็นครูบาได้เหมือนกัน มีทั้งบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์ แล้วครูบาทางล้านนาส่วนมากเท่าที่ครูบาดูนะ ถ้าอายุน้อยๆ มีบารมีเยอะ จะสามารถสร้างตรงนั้นตรงนี้ได้ อย่างครูบาชุ่ม ท่านสร้างวัดได้มากมายเป็นร้อยๆ วัด ครูบาเทืองก็สร้างได้มาก แล้วยังมีครูบาศรีวิชัย ครูบาขาวปี ครูบาชัยวงศา เป็นต้น

“ครูบาอริยชาติ” มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ในเหตุที่ท่านอยู่กรรม เข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน การเข้านิโรธสมาบัตินี้ ตามคัมภีร์ของพุทธศาสนาฝ่ายล้านนา เชื่อว่า พระอริยบุคคลระดับพระอนาคามีขึ้นไปเท่านั้นที่ทำได้ เพราะถ้าเข้านิโรธเต็มกำลัง ไม่ฉัน ไม่ถ่าย ไม่พูด ไม่จา นั่งภาวนาตลอดเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เหนือเวทนาทั่วไปที่มีมนุษย์ธรรมดาจะทำได้ แต่สำหรับ “ครูบาอริยชาติ” ท่านเรียกการเข้านิโรธของท่านว่า “การอยู่กรรม” ซึ่งจะกระทำในวันเข้าพรรษา  ซึ่งท่านจะอยู่กรรมทุกปี โดยมีชาวบ้านและพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าดูแล ด้านนอกกระโจม และรอที่ที่จะใส่บาตรครูบาในวันที่ออกจากนิโรธ

ซึ่งนอกจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน และข้อวัตรต่างๆ ตามพระธรรมวินัยแล้ว พระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ซึ่งเป็นที่นับถือของศิษยานุศิษย์ พุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ได้สร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณ และช่วยงานสาธารณประโยชน์ อื่นๆ อีกมากมาย โดยมีบันทึกรายการก่อสร้าง และงานสาธารณประโยชน์ ตั้งแต่ พ.ศ.2555 รวมงบประมาณทั้งสิ้น มากกว่า 1,000 ล้านบาท  โดย ด้านสาธารณสงเคราะห์ ท่านได้จัดตั้งหน่วยกู้ภัยแสงแก้วโพธิญาณ อุปถัมภ์ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต เพื่อสนองงานในการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุฉุกเฉิน สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

ด้านการศึกษา

ท่านได้แจกทุนการศึกษา ให้แก่นักเรียนทุกปี อย่างน้อยปีละ 7,000   ทุน และได้จัดตั้งโครงการเพชรล้านนา ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และเทศบาลนครเชียงราย เพื่อให้นักเรียนภาคเหนือ ได้แสดงความสามารถประกวดแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ

ด้านสาธารณูปการ

ท่านก็ได้ช่วยเหลืองานต่างๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการก่อสร้างถาวรวัตถุ จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน โรงพยาบาล วัดอื่นๆ ชุมชน หมู่บ้าน เช่น อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสารภีพิทยา จ.เชียงใหม่ , อาคารโรงพยาบาลแม่สรวย จ.เชียงราย , อาคารพัฒนาอาชีพบ้านใหม่แสงแก้ว และอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ เป็นต้น

ปัจจุบัน “ครูบาอริยชาติ”  พำนักอยู่ที่ วัดแสงแก้วโพธิญาณ และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทางวัดแสงแก้วโพธิญาณ ได้จัดงานทำบุญฉลองสมโภชโสฬสญาณมงคล 16 ปี และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 42 ปี พระภาวนารัตนญาณ วิ.(ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต) โดยมีการจัดปฏิบัติธรรม บรรพชา-อุปสมบทหมู่ จำนวน 140 รูป และบวชชีพราหมณ์ 150 คน มีพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทองคำ ขนาด 9.9 นิ้ว น้ำหนัก 15 กิโลกรัม , เบิกเนตรพระศรีอริยเมตไตรยบรมโพธิญาณ ขนาดหน้าตัก 21 เมตร สูง 32 เมตร ใช้ทุนทรัพย์ในการจัดสร้าง 65 ล้านบาท , สมโภชพระประธานเงิน สมเด็จองค์ปฐม ขนาดหน้าตัก 80 นิ้ว หล่อด้วยเม็ดเงินบริสุทธิ์ น้ำหนัก 1,111 กิโลกรัม พระพักตร์ทองคำ น้ำหนัก 11 กิโลกรัม ใช้ทุนทรัพย์ในการจัดสร้าง ประมาณ 70 ล้านบาท , ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพระมหาเจดีย์วัดแสงแก้วโพธิญาณ

และในช่วงจัดงานดังกล่าว พระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ได้นำคณะศิษยานุศิษย์บริจาคปัจจัย เพื่องานสาธารณประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น ถวายปัจจัยสมทบกองทุนพระปริยัติโรงเรียนเจดีย์หลวง จำนวน 200,000 บาท , ถวายปัจจัยสนับสนุนทุนบาลีโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ จำนวน 200,000 บาท , แจกทุนการศึกษา ให้แก่นักเรียน จำนวน 7,000 ทุน , แจกข้าวสารให้แก่ชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ รวม จำนวน 8,400 ถุง (รวม 42 ตัน) , มอบทุนสาธารณประโยชน์ จำนวน 16 ทุน

ส่วนประเด็นที่มีเพจ หนึ่งนำเสนอข่าวภิกษุรูปหนึ่งกระทำผิดพระธรรมวินัยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยนำภาพส่วนหนึ่งของ “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” และมีสำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่ง นำภาพบรรยากาศของวัดแสงแก้วโพธิญาณ มาประกอบข่าวจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความเสื่อมเสีย ล่าสุดเพจดังกล่าวได้ออกมาขอโทษแล้ว และ “ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต” ท่านก็อโหสิกรรมให้กับบุคคลที่ทำให้เสียชื่อเสียง

อีจัน ขอร่วมอนุโมทนาบุญทั้งหมดที่ท่านได้สร้างมานะคะ