กกต. แจง คลิป กรรมการหน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช่กาเลข แค่ เซ็นชื่อหน้าบัตร

เลขาธิการ กกต. แจง กรณีคลิป กรรมการหน่วยเลือกตั้ง กากบาท บัตรเลือกตั้ง ระบุ เป็นแค่การ เซ็นชื่อหน้าบัตร เท่านั้น ไม่ใช่การกาเลข

จากข่าวที่มีการเผยแพร่คลิป เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง เขียนอะไรบางอย่างลงไปในบัตรเลือกตั้ง จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปหลายๆด้าน

ล่าสุดวันนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กรณีมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอ กรรมการประจำหน่วย (กปน.) กากบาทบัตรเลือกตั้งนั้น ในคลิปวีดีโอดังกล่าว กรรมการประจำหน่วย กำลังเซ็นชื่อในบัตรเลือกตั้งก่อนที่จะส่งมอบบัตรเลือกตั้งให้ทันตามกำหนด ตามที่กฎหมายระบุไว้ ไม่ใช่การกากบาทลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งให้ใคร หรือผู้สมัครพรรคการเมืองใด ซึ่งจะเห็นได้ว่าในคลิปดังกล่าวกรรมการประจำหน่วยไม่ได้เปิดดูหมายเลขผู้สมัครในบัตรเลือกตั้ง เพียงแต่เซ็นชื่อด้านหน้าบัตรเท่านั้น และการดำเนินการทุกอย่างมีการบันทึกวีดีโอไว้ เพื่อความโปร่งใส การตรวจสอบได้ ป้องกันผู้ประสงค์ไม่ดีนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งช่วงนี้มีข่าวบิดเบือนกว่า 100 ข่าว ที่ทำให้ กกต. ได้รับความเสียหาย ทาง กกต. กำลังพิจารณาดำเนินการกับผู้อยู่เบื้องหลัง การบิดเบือนข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะรู้สึกกับ กกต. อย่างไร ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่ควรทำให้กระบวนการเลือกตั้งสกปรก เพราะการบิดเบือนหรือทำข่าวเท็จไม่ใช่ประชาธิปไตย และหากคิดว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ ก็อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ กกต. ได้ส่งบัตรเลือกตั้งไปยัง 400 เขตทั่วประเทศแล้ว และในวันนี้ได้ทยอยส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่คัดแยกซองตรวจสอบแล้ว ส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ แล้วเช่นกัน ส่วนบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ก็เริ่มทยอยส่งกลับไปยังภูมิลำเนาของผู้ใช้สิทธิ์ในวันนี้ ร้อยละ 96.8 ที่เหลือ คือ บัตรเลือกตั้งจากแอฟริกาใต้ และโมซัมบิก ที่เพิ่งมาถึงวันนี้ และอยู่ระหว่างการคัดแยก ส่วนบัตรเลือกตั้งจากเม็กซิโก คาดว่าจะมาถึงประเทศไทยวันพรุ่งนี้

นายแสวง กล่าวว่า ในส่วนกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องการถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลนั้น ตนเองยังไม่เห็นคำร้องดังกล่าว แต่ได้อธิบายกระบวนการพิจารณาของกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนวันเลือกตั้ง หลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ตามมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หาก กกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ไม่มีคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ให้ยื่นศาลฎีกาพิจารณา แต่ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 วัน หากไม่ทันก่อนวันเลือกตั้ง ก็จะมีเวลาก่อนการประกาศผล กรณีที่เห็นว่า ไม่ผิดก็ยุติ แต่หากเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม กกต. อาจดำเนินคดีอาญา เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่า ตนเองไม่มีคุณสมบัติแล้วมาสมัคร แต่ไม่มีเหตุที่จะทำให้พ้นสมาชิกภาพ ต้องประกาศรับรองไปก่อน และหากเป็นช่วงประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว หากรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิ์รับสมัคร ต้องใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 82 ดำเนินการให้พ้นจากสมาชิกภาพ ซึ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมของทั้งผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง

เลขาธิการ กกต. ย้ำว่า ทุกอย่างมีกระบวนการให้ความเป็นธรรม กกต. ไม่สามารถเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมได้ ดังนั้น อยากให้แยกระหว่างผลกระทบ กับกระบวนการให้ความเป็นธรรมออกจากกัน ซึ่ง กกต. ดำเนินการทุกอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกันทุกเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามา

คลิปอีจันแนะนำ
โซเชียลตั้งคำถาม เค้าทำอะไรกัน