ผบก.ปทส. มุกดาหาร ตรวจสอบพื้นที่ ลุงพล รุกป่าสงวน สร้างวังพญานาค

ผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ผบก.ปทส. มุกดาหาร ตรวจสอบพื้นที่ ลุงพล รุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูพาน สร้างวังพญานาค

เมื่อวานที่ผ่านมา (7 มีนาคม 2564) พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) ลงพื้นที่บ้านกกกอก จังหวัดมุกดาหาร พร้อมเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ป่าไม้มุกดาหาร พร้อมด้วยกำนัน ตำบลกกตูม แขวงการทางมุกดาหาร และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านกกกอก หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีที่ นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล และพรรคพวก กระทำผิดเกี่ยวกับการตัดไม้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูพาน และก่อสร้างวังพญานาค จาก สภ.กกตูม จังหวัดมุกดาหาร มาให้ บก.ปทส.ดำเนินการ

โดยภายหลังจากประชุมเสร็จทางทีมงาน ปทส. ได้ร่วมกับป่าไม้มุกดาหาร พร้อมกับเจ้าที่ฝ่ายปกครองได้ลงสำรวจพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างพญานาค ซึ่งมีบรรดายูทูบเบอร์มารอถ่ายทอดสดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำอุปกรณ์การถ่ายภาพทางอากาศ และเครื่องวัดค่าพิกัดทางดาวเทียม เพื่อใช้ตรวจสอบแนวเขตและขนาดของพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม (ผบก.ปทส.) กล่าวว่า เมื่อรับสำนวนแล้ว จะมีการตรวจสอบว่ามีความครบถ้วนหรือไม่ พร้อมกับเรียกสอบพยาน พร้อมทั้งคนที่ร่วมกระทำความผิด ซึ่งคดีนี้จะเป็นการบุกรุกกี่คนหรือนั้น ยังไม่อาจยืนยันจำนวนที่แน่นอนได้ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง

จากการลงพื้นที่เบื้องต้นน่าจะอยู่ในเขตป่าสงวน และต่อจากนี้ไปจะสอบถามเจตนาผู้กระทำผิดว่าเป็นอย่างไร และก่อนหน้านี้ ได้สั่งการให้ กก.3 บก.ปทส. สืบสวนรวบรวมข้อมูลไว้ก่อนแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน และคดีไม่สลับซับซ้อนมาก อีกทั้งรู้ตัวละครในคดีตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว

ส่วนในกรณีที่มีคำถาม ว่าจะมีการทุบพญานาคหรือไม่นั้น ในส่วนของการก่อสร้างพญานาค จะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นอีกครั้ง ว่าจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้หรือไม่ ซึ่งอย่างไรก็แล้วแต่ต้องไม่เป็นของเอกชนต้องเป็นของสาธารณะเท่านั้น ในส่วนของ ปทส. เองไม่มีหน้าที่ในส่วนนี้ว่าจะสั่งทุบหรือเอาไว้

สำหรับการสำรวจขนาดพื้นจุดก่อสร้างพญานาค ทางป่าไม้จะได้ทำการวัดเนื้อที่อีกรอบว่าสรุปแล้วมีจำนวนเนื้อที่เท่าไหร่ เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้บุกรุก และทำร้ายป่าสงวนว่าต้องจ่ายเท่าไร พร้อมทั้งคำนวณอายุของต้นไม้ที่ถูกตัดไป เพื่อจะนำไปคิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเมื่อคดีสิ้นสุดอีกครั้ง