ลูกเลียงผา พลัดหลงแม่ วิ่งตามเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากลับหน่วย

ลูกเลียงผา พลัดหลงกับแม่ ฉลาดวิ่งตามเจ้าหน้าที่กลับหน่วย สัตวแพทย์ แนะเพื่อความปลอดภัยอนุบาลก่อนปล่อยคืนป่าธรรมชาติ

แฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่ง ชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ภาพความน่ารัก ของเจ้าหน้าที่ กับ เลียงผาน้อยตัวหนึ่ง โดยมีข้อความระบุว่า

“ นายกิติพัทธ์ แสงแก้ว หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม ตำบล นาขุนไกร อำเภอ ศรีสำโรง สุโขทัย รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 เจ้าหน้าที่ขสป.ถ้ำเจ้าราม ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพฯ พบลูกเลียงผาพลัดหลงจากแม่ จึงได้เฝ้าระวังความปลอดภัยเพื่อรอแม่เลียงผากลับมารับลูก แต่แม่เลียงผาไม่กลับมาแต่อย่างใด

จากการสังเกตพฤติกรรมของลูกเลียงผาพบว่าเชื่อง และยังได้เดินติดตามเจ้าหน้าที่กลับมาจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าวังชมภู ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และด้วยความที่เจ้าเลียงผาน้อยตัวนี้ ยังเด็กมาก ทางเจ้าหน้าที่ จึงได้นำนมแพะมาให้กินตลอดเวลา

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) สัตวแพทย์เห็นควรให้นำมาอนุบาลต่อที่ขสป.ถ้ำเจ้ารามก่อน เพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หากปล่อยในตอนนี้อาจถูกสัตว์อื่นทำร้ายได้”

อย่างไรก็ดี เลียงผาน้อยตัวนี้ ได้ถูกตั้งชื่อว่า เจ้าเพชร

ทั้งนี้ เลียงผา สัตว์ป่าสงวนเสี่ยงสูญพันธุ์จากความเชื่อของมนุษย์ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่เพิ่มโทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท กรณีส่งออกหนักสุด 1.5 ล้าน แถมจำคุกสูงสุด 15 ปี

เลียงผาเป็นสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ในวงศ์มหิงสา (Bovidae) เช่นเดียวกับ วัว ควาย แพะ แกะ อยู่ในวงศ์ย่อยแพะแกะ (Caprinae) และเป็นสัตว์โบราณที่สุดของวงศ์ย่อยแพะแกะ มีรูปร่างคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขอยาว มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี แต่อาจยาวสุดเพียง 32 เซนติเมตร เมื่ออยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุได้ถึง 21 ปี นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ออกหากินตอนเย็นและตอนเช้ามืด กินพืชต่างๆ เป็นอาหาร ชอบอาศัยตามหน้าผาสูงชัน

ด้วยความเชื่อที่ว่าเลียงผามีน้ำลายที่สมานกระดูกและสมานแผลได้ จึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผามาใช้รักษาแผลและสมานกระดูก โดยนำหัวและกระดูกไปต้มกับน้ำมันมะพร้าว จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการล่ามาจากความเชื่อของมนุษย์แทบทั้งสิ้น

ในส่วนบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องตามพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 22 ฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ป่าสงวน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 จำคุก 3-15 ปี ปรับ 300,000 – 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ