สตช. ผุดไอเดีย ติดเบอร์เสื้อ ไรเดอร์

สตช. ผุดไอเดีย ติดเบอร์เสื้อ ไรเดอร์ มุ่ง ลดสถิติ อุบัติเหตุ เตรียมเข้มงวด 15 พ.ย.

ไรเดอร์ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ก็มีไอเดียที่จะจัดระเบียบของไรเดอร์แต่ละบริษัทให้มากขึ้น โดยเมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 64) พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เชิญหน่วยงานราชการและบริษัทที่ให้บริการขนส่งด้านอาหารและสิ่งของ พร้อมทั้งเครือข่ายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน ในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จากปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร ขับขี่ไม่ปลอดภัย จนเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และได้รับการร้องเรียนจากประชาชน โดยพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเสนอให้บริษัทขนส่งเอกสารและอาหารทั้งหมด เพิ่มหมายเลขบนชุดพนักงาน เพิ่มเติมจากสีเสื้อที่แบ่งแยกบริษัท เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบหลังเกิดเหตุ

นอกจากนี้ จะบังคับใช้กฎหมายเอาผิดทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร ขับรถบนทางเท้า และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับที่ใช้ดำเนินคดีกับแก๊งรถซิ่ง มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกัน ในคดีที่ส่งฟ้องศาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอศาลให้ริบรถของกลางด้วย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเพิ่มความเข้มข้นในการกวดขันวินัยจราจร เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้ง ประสานกรมการขนส่งทางบก ในกรณีที่ได้รับใบสั่ง เพื่อไม่ให้ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี จนกว่าจะเสียค่าปรับ

นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 แนวทางที่ใช้ควบคุมผู้ประกอบการ ได้แก่ จับซึ่งหน้าเมื่อกระทำความผิด, ส่งสายตรวจออกตรวจสอบในพื้นที่เสี่ยง, ตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร, ใช้กล้องของตำรวจ กล้องของกรุงเทพมหานคร และกล้องตำรวจทางหลวง ตรวจสอบหาการกระทำความผิด, และมาตรการสุดท้าย คือ เปิดรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน เช่น เบาะแสจากกล้องหน้ารถ โดยสามารถแจ้งผ่านศูนย์โซเชียลมีเดีย ซึ่งอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 20 และเครือข่ายวิทยุจราจรต่าง ๆ ซึ่งจะได้รางวัล 10 รางวัลต่อเดือน พร้อมเกียรติบัตร

ขณะที่ ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร พบว่า มีการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎจราจรบนท้องถนน 160,000 เบาะแส จับปรับแล้ว 77,000 เบาะแส เหลือ 38,000 เบาะแส ซึ่ง กทม.ได้ส่งต่อไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษต่อไป

ใช้รถใช้ถนนกันอย่างระมัดระวังนะคะ จันเป็นห่วงค่ะ

คลิปอีจันแนะนำ
5 ปี คดีน้องจูน กับวันที่ใกล้ถึงจุดจบ!