กรมสุขภาพจิต แนะวิธีเช็กตัวเอง เศร้าแค่ไหนเป็นโรคซึมเศร้า

เศร้าแค่ไหนเป็น โรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต แนะวิธีเช็กตัวเองด้านความผิดปกติ ทางอารมณ์ที่พบได้บ่อย

กรมสุขภาพจิตแนะ วิธีเช็กตัวเองเศร้าแค่ไหนเป็นโรคซึมเศร้า เฟซบุ๊กกรมสุขภาพจิต เปิดเผยวิธีเช็กตัวเองว่าเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไม่ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “โรคซึมเศร้า” คืออะไร โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชด้านความผิดปกติทางอารมณ์ที่พบได้บ่อย

เกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ

1.สาเหตุหลัก เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง

2.สาเหตุอื่นๆ เช่น พันธุกรรม สารเสพติด การสูญเสีย ความผิดหวัง ความเครียด

กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษา มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงถึง 20% มากกว่าคนทั่วไปหลายสิบเท่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่? ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการดังนี้

อาการหลัก

1.มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ ซึม เศร้า หงอย ทั้งที่ตัวเองรู้สึก หรือคนอื่นก็สังเกตเห็น

2.เบื่อ ไม่มีความสุข กับกิจกรรมที่เคยทำ

อาการโดยร่วมอื่นๆ

  • การกิน เบื่ออาหาร หรือเจริญอาหารมากเกินไป

  • การนอน นอนไม่หลับ หรือนอนเยอะ

  • พฤติกรรม เชื่องช้าลง หรือกระวนกระวาย

  • ร่างกาย อ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง ใจลอย ไม่มีสมาธิตัดสินใจอะไรไม่ได้

  • ความคิด ตำหนิตัวเอง หรือมองตัวเองเป็นคนไร้ค่าคิดเรื่องการตาย

*หากมีอาการในข้อ 1 หรือ ข้อ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และอาการร่วมอื่นๆ

รวมแล้วอย่างน้อย 5 อาการ โดยมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ปรึกษา สายด่วนสุขภาพจิต

แม้จะดูไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก และยังมีความเชื่อผิดๆ ที่หลายคนมองต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เช่นอ่อนแอ ใจไม่สู้ เอาแต่คิดลบ เปราะบาง มองโลกแง่ร้ายไม่อดทน ยังมีคนที่แย่กว่านี้ ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ทำร้ายตัวผู้ป่วยอย่างมาก ไม่มีใครที่อยากเศร้าตลอดเวลา “ซึมเศร้า” เป็นอาการป่วยที่ต้องการการรักษา

หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าการรักษาโรคทางจิตเวซสิ้นเปลืองและเสียเวลา ทั้งๆ ที่จริงแล้วการไม่ไปรักษามีราคาที่แพงกว่า ทั้งทางค่าใช้จ่ายและทางจิตใจ หากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจนำไปสู่การหูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง ทำร้ายตัวเอง จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้า รักษาได้โดยการทำจิตบำบัดรายบุคคลและการทำจิตบำบัด ร่วมกับรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้าโดยตัวยาจะช่วยไปปรับสมดุลของเซโรโทนิน ทำให้อารมณ์ค่อยๆ แจ่มใสขึ้นใน 2-3 สัปดาห์แรก และต้องใช้เวลา 30-90 วัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่

อาการผลข้างเคียงยา ที่พบได้บ่อย คือ ความว่องไวลดลงและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม มึนงง ในปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางการรักษา จึงมีรูปแบบที่แก้อาการง่วงซึมให้ผู้ป่วยเลือกใช้ และหายจากอาการซึมเศร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดยาของผู้ป่วย

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ที่กำลังสงสัยว่าตนเองจะป่วยหรือกำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้านะคะ มีอีกหลายคนกำลังต่อสู้ไปพร้อมๆกับคุณ คุณไม่ได้ตัวคนเดียว และคุณจะผ่านมันไปได้ในที่สุด

จันขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านความเศร้าไปให้ได้นะคะ

ข้อมูล กรมสุขภาพจิต

คลิปอีจันแนะนำ
อาจารย์เกรียงไกร ซินแสผู้ฝืนชะตาฟ้า