โรคติดเชื้อ ไวรัสมาร์บวร์ก ตระกูลเดียวกับ อีโบลา น่ากลัว แค่ไหน?

ไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ตระกูลเดียวกับอีโบลา น่ากลัวแค่ไหน? เกิดจากอะไร สาเหตุ – อาการ รู้ก่อนเช็กก่อน

เนื่องจากมีประกาศพบการระบาดของ ไวรัสมาร์บวร์ก ตระกูลเดียวกับอีโบลา ทางตอนใต้ของประเทศกานา สำหรับไวรัสมาร์บูร์ก (Marburg virus) ทาง WHO ได้ระบุว่า ติดต่อสู่คนจากค้างคาวผลไม้ และติดต่อจากคนสู่คน ด้วยสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรงที่มีอัตราป่วยตายสูง

WHO ยืนยัน พบไวรัสมาร์บวร์ก ระบาดในกานา พบผู้เสียชีวิต 2 ราย

โรคไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus) หรือเดิมเรียก ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก (Marburg hemorrhagic fever) เป็นโรคร้ายแรงในมนุษย์ โรคไวรัสมาร์บวร์กเป็นไวรัสที่มีลักษณะคล้ายโรคไวรัสอีโบลาโรคไวรัสมาร์บวร์กมีบันทึกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 เมื่อเกิดการระบาดในเมืองมาร์บวร์กและแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีตะวันตก และเมืองเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย การระบาดนี้เกิดจากการติดเชื้อจากลิงกรีเวต (Chlorocebus aethiops) ที่ถูกส่งมาจากประเทศยูกันดาเพื่อใช้ในการพัฒนาวัคซีนโปลิโอ การติดเชื้อหลักเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเมื่อเจ้าหน้าที่ทำงานกับเนื้อเยื่อของลิงโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ การติดเชื้อครั้งต่อมาเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสเลือดของผู้ป่วย

การพยากรณ์โรคไวรัสมาร์บวร์กนั้นยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นมีทั้งฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หรือมีโรคตาม เช่น อัณฑะอักเสบ ตับอักเสบ หรือม่านตาอักเสบ นอกจากนี้พบว่าไวรัสสามารถคงอยู่ในร่างกายผู้ป่วยที่หายดีและอาจก่อโรคในภายหลัง ทั้งยังสามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง เมื่อเกิดการระบาดในประเทศแองโกลาระหว่าง ค.ศ. 2004–2005 มีผู้ติดเชื้อ 252 คน ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 227 คน คิดเป็นอัตราป่วยตาย 90% แม้ทุกกลุ่มอายุมีโอกาสติดเชื้อ แต่การติดเชื้อในเด็กพบได้ยาก การระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกระหว่าง ค.ศ. 1998–2000 มีเพียง 8% ที่เป็นผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี

ลักษณะอาการ โรคไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus)

มีระยะฟักตัว 2–21 วัน โดยเฉลี่ย 5–9 วัน

ช่วงวันที่ 1–5 หลังเริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง คอหอยอักเสบ ผื่นนูนแบน ปวดท้อง เยื่อตาอักเสบ

ช่วงวันที่ 5–13 ผู้ป่วยจะมีภาวะสิ้นกำลัง หายใจลำบาก บวมน้ำ ไข้ออกผื่น และอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองอักเสบ สับสน เพ้อ ปลายช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการตกเลือดซึ่งจะนำไปสู่ช่วงฟื้นตัวหรือทรุดหนักหลังจากนั้น

ช่วงวันที่ 13–21 อาการผู้ป่วยสามารถแบ่งเป็นสองประเภท หากฟื้นตัวผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไฟโบรไมอัลเจีย ตับอักเสบ และอ่อนแรง ส่วนผู้ป่วยที่อาการทรุดจะมีไข้ต่อเนื่อง ภาวะตื้อ โคม่า ชัก การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และช็อก ผู้ป่วยมักเสียชีวิต 8–16 วันหลังเริ่มแสดงอาการ

สาเหตุ

โรคไวรัสมาร์บวร์กเกิดจากไวรัสสองชนิดคือไวรัสมาร์บวร์กและไวรัสแรเวินที่อยู่ในสกุล Marburgvirus เป็นไวรัสเฉพาะถิ่นที่พบในป่าแห้งแล้งแถบเส้นศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา การติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กส่วนใหญ่มาจากการไปเยือนถ้ำหรือทำงานในเหมือง ในปี ค.ศ. 2009 มีการแยกไวรัสสองชนิดนี้จากค้างคาวผลไม้อียิปต์ (Rousettus aegyptiacus) ที่แข็งแรงที่ถูกจับจากถ้ำ การแยกไวรัสนี้ชี้ว่าค้างคาวผลไม้โลกเก่ามีส่วนเป็นตัวเก็บเชื้อในธรรมชาติ และการเยือนถ้ำที่ค้างคาวอาศัยอยู่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าค้างคาวผลไม้อียิปต์เป็นพาหะที่แท้จริง หรือรับเชื้อมาจากสัตว์อื่น ปัจจัยเสี่ยงอื่นคือการสัมผัสกับไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดของโรคนี้เพียงครั้งเดียวในปี ค.ศ. 1967 ที่เกิดจากการสัมผัสกับลิงที่ติดเชื้อ

การวินิจฉัย

โรคไวรัสมาร์บวร์กมีลักษณะคล้ายโรคไวรัสอีโบลา และมักสับสนกับหลายโรคที่พบในแถบเส้นศูนย์สูตรของแอฟริกา เช่น มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย และโรคบิดจากเชื้อชิเกลลา เมื่อวินิจฉัยแยกโรคยังพบว่าโรคนี้มีอาการคล้ายโรคฉี่หนู ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ และกาฬโรค รวมถึงโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดโปรไมอิโลไซต์ กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก-ยูรีเมีย และได้รับพิษงูสิ่งสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้คือการซักประวัติผู้ป่วย โดยเฉพาะประวัติการเดินทาง การทำงาน และการสัมผัสสัตว์ป่า การยืนยันโรคไวรัสมาร์บวร์กทำได้ด้วยการแยกไวรัส หรือตรวจหาแอนติเจนหรืออาร์เอ็นเอของไวรัสในตัวอย่างเลือดผู้ป่วย

แนวทางป้องกันโรค

ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับทั้งไวรัสอีโบลา หรือมาร์บวร์ก ควรป้องกันการมีเพศสัมพันธ์หลังการเจ็บป่วยเป็นเวลา 3 เดือน หรือจนกระทั่งตรวจไม่พบไวรัสในนํ้าอสุจิ แยกผู้ป่วยสงสัยจากผู้ป่วยอื่น ๆ และเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด รวมถึงดำเนินการให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

สถานการณ์โรคในประเทศไทย

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บวร์ก เป็นกลุ่มโรคไข้แล้วมีเลือดออกชนิดหนึ่งอัตราการแพร่ระบาดสูงและ เร็ว และอัตราค่อนข้างสูง(50-90%) ในประเทศไทย ยังไม่มีข้อมูลการป่วยด้วยโรคนี้และโรคนี้ยังไม่อยู่ในระบบเฝ้าระวัง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็อาจเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ที่เชื้ออาจมาจากพื้นที่ระบาดของโรคเข้ามาในประเทศมาได้ ดังนั้น อาจต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มประชากรบางกลุ่ม

อ้างอิง
https://www.gavi.org/vaccineswork/next-pandemic/marburg

https://www.afro.who.int/countries/ghana/news/ghana-declares-first-ever-outbreak-marburg-virus-disease-0

กรมควบคุมโรค

คลิปอีจันแนะนำ
โดยต่อยไม่ยั้ง เพราะ บอกกะเพราหมูกรอบ