ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ต้องอ่าน! อันตรายกว่าที่คิด

ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เรื่องใหญ่! อันตรายกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่อึดอัดท้อง สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย

เวลากินอาหารแล้วไม่ย่อย ท้องอืด มีลมในท้อง อย่านิ่งนอนใจ อย่าคิดว่าอาการแบบนี้ไม่ร้ายแรง กินผลิตภัณฑ์ช่วยย่อย เดี๋ยวก็หาย!

เพราะถ้าเป็นแบบนี้บ่อย ๆไม่ดีแน่! วันนี้ อีจัน ชวนทุกคนมาสังเกตอาการกันค่ะ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ท้องอืดเกิดจาก ในท้องมีอาหารค้างอยู่ จึงทำให้อึดอัด แน่นท้อง หรือมีลมอยู่ในท้อง ถึงแม้จะกินอาหารไปแล้ว 3-4 ชั่วโมงก็ตาม

สาเหตุอาการท้องอืดเกิดจากอะไรบ้างมาดูกัน

1.นิสัยการกิน

กินอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้กระเพาะบีบตัวช้าใช้เวลาย่อยอาหารนาน เช่น แกงกะทิ อาหารผัด อาหารทอด รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทถั่ว ผักดิบ เช่น สลัด ดังนั้นให้สังเกตว่ากินอาหารแบบไหนแล้วท้องอืดให้ลดอาหารประเภทนั้นลง

2.รูปแบบการใช้ชีวิต

ใครที่กินอาหารอิ่มแล้ว ชอบนั่งเฉยๆ หรือกินเยอะๆ บอกเลยว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้อาหารย่อยช้า และค้างอยู่ในกระเพาะนาน เมื่ออาหารค้างอยู่ในกระเพาะจะเกิดการหมัก ส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะ ทำให้แน่นท้องและเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้

ดังนั้น หลังมื้ออาหารควรเดินสักพักหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้มีการเคลื่อนไหว

3.อายุ…ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข

ใช้จ้ะ! อายุที่มากขึ้นทำให้ระบบย่อยอาหารช้าลง โดยเฉพาะถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้กระเพาะบีบตัวน้อยลง ส่งผลให้มีอาหารค้างเหลืออยู่ในกระเพาะ

4.ท้องผูกเป็นประจำ

ทำให้ความดันภายในทางเดินอาหารสูงขึ้น มีอาการอืดท้อง เสียดท้อง ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ดื่มน้ำมากขึ้น ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายและกินอาหารที่มีกากใย

5.นิ่วในถุงน้ำดี

กลุ่มเสี่ยงคือเพศหญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี หากมีอาการจุกเสียด แน่นท้องหลังจากรับประทานอาหารมันอาจเป็นเพราะนิ่วถุงน้ำดีได้

6.การติดเชื้อแบคทีเรีย

แบคทีเรียที่มีชื่อว่าเอช ไพโรไล (H.pylori) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดกระเพาะอักเสบ เกิดอาการเสียดท้อง แน่นท้องและมีลมในท้องได้

7.โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

อันนี้แหละที่อยากเตือนกัน ซึ่งในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อระยะของโรคมีการพัฒนาขึ้น อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคแผลในกระเพาะอาหาร

วิธีสังเกตว่าท้องอืดไม่ใช่เรื่องปกติ!

1.สังเกตว่าท้องอืดและมีอาการปวดท้องร่วมหรือไม่

2.น้ำหนักตัวลดลง ผอมลงแบบผิดสังเกตหรือไม่

3.อุจจาระผิดปกติ เช่น อุจจาระเป็นเลือดหรืออุจจาระสีดำ ๆ แดง ๆ เหลว ไม่เป็นก้อน เนื่องจากอาจมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่

4.อุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสียหรือไม่ เพราะนี่อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

เพื่อให้สุขภาพดีอยู่กับเราไปนาน ๆ หมั่นดูแล สังเกต และแก้ไขช่องโหว่ที่จะนำพาเราไปสู่สุขภาพที่เจ็บป่วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.bumrungrad.com/th/health-blog/august-2021/flatulence-and-indigestion-maybe-serious

คลิปอีจันแนะนำ
ความในใจ เจ้าสาวโดนออแกไนซ์เทงานแต่ง