25 เมษายนทุกปี องค์กรอนามัยโลก กำหนดให้เป็น วันมาลาเรียโลก

25 เมษายน ถูกกำหนดเป็น วันมาลาเรียโลก โดย องค์กรอนามัยโลก เพื่อตระหนักถึงความพยายามในการควบคุมโรค หลัง มาลาเรีย คร่าชีวิตคน!

25 เมษาฯ วันมาลาเรียโลก

ประวัติ วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)

ในปี 2512 สภาอนามัยโลก ได้มีมติให้ยุติโครงการกำจัดโรคมาลาเรียทั่วโลกที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 เนื่องจากความล้มเหลวในการดำเนินงานตามกลยุทธ์การกำจัด “โรคมาลาเรีย” ทั่วโลก และส่งมอบโครงการนี้ไปให้องค์การสาธารณสุขดำเนินการต่อ แต่ภายหลังกลับไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศทางตอนใต้ ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญของโรคนี้ ในแอฟริกาก็เช่นกัน ทำให้สถานการณ์โรคมาลาเรียกลับเลวร้ายลงอย่างถึงที่สุด

ในปี 2541 องค์การอนามัยโลกได้ก่อตั้งกลุ่ม Roll Back Malaria Partnership เป็นกลุ่มระดับโลกในการต่อต้านโรคมาลาเรีย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของโรคมาลาเรียจากเดิมลงครึ่งหนึ่งให้ได้ในปี 2553

ในปี 2547 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางตอนใต้ ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา โรคมาลาเรียได้คร่าชีวิตผู้คน และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไปมากกว่าล้านราย สร้างความเสียหายในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา

ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 (พ.ศ. 2550) องค์การอนามัยโลกได้ลงมติกำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันแอฟริกามาลาเรีย (Africa Malaria Day) เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)

ลักษณะโรคมาลาเรีย

มาลาเรียเป็นโรคติดต่อ มี “ยุงก้นปล่อง” เป็นพาหะเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน class Sporozoa มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกันคือ ระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง มาลาเรียเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก ประชากรร้อยละ 36 ของประชากรจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย

สำหรับประเทศไทย มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา อัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในปัจจุบันเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย ที่พบได้ในคนมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่

  1. Plasmodium falciparum

  2. Plasmodium vivax

  3. Plasmodium malariae

  4. Plasmodium ovale

  5. Plasmodium knowlesi

วิธีการติดต่อ

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรีย (sporozoite) จากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน จากนั้นเชื้อจะเดินทางไปที่ตับและเกิดการแบ่งเซลแบบไม่อาศัยเพศ ทำให้ได้ merozoite นับพันตัว จากนั้นเซลตับจะโตและแตกออกปล่อย merozoite ออกมาในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ สำหรับเชื้อ P.vivax และ P.ovale เชื้อบางส่วนยังคงอยู่ในเซลตับที่เรียกว่า “hypnozoite” ทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ได้

หลังจากที่ merozoite เข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะเดินทางต่อไปยังเม็ดเลือดแดง และเจริญเป็น trophozoite และแบ่งตัวอีกครั้งเป็น merozoite 6-30 ตัว เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก merozoite จะเดินทางไปยังเม็ดเลือดแดงอื่น แล้วเจริญแบ่งตัววนเวียนอยู่เช่นนี้ merozoite บางตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศ (gametocyte) เพศผู้เพศเมีย เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดคนที่มี gametocyte ในกระแสเลือด เชื้อเหล่านี้จะผสมพันธุ์กันเป็น zygote เจริญเป็น oocyst ฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวเป็น sporozoite ไปยังต่อมน้ำลายเพื่อรอการกัดของยุงอีกครั้ง

อาการและอาการแสดง

อาการและอาการแสดงของมาลาเรียไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ โดยมากจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ ชนิดของเชื้อ จำนวนของ sporozoite ที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป

การรักษามาลาเรีย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1. การรักษาจำเพาะ คือการให้ยา schizontocide กำจัดเชื้อมาลาเรียที่เป็น schizont ซึ่งเป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง การเลือกชนิดของยา schizontocide นั้น ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยาต่อเชื้อมาลาเรีย ตามลักษณะการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่างๆ กัน

2. การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน คือ การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีเชื้อมาลาเรีย หรือภายหลังที่เชื้อมาลาเรียหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย falciparum ถ้าได้รับการรักษาช้า จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

3. การป้องกันการแพร่โรค คือ การใช้ยา gametocytocide ฆ่าเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อ คือ gametocyte โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในท้องที่ที่มียุงเป็นพาหะ

มาลาเรียนั้น เป็นโรคที่มาพร้อมกับหน้าร้อน มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ฝากผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหมั่นตรวจสอบจุดน้ำขังบริเวณบ้านด้วยนะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาไข่ทิ้ง กลายเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ไลบรารี่สยาม, เว็บไซต์โรงพยาบาลวิภาวดี, เว็บไซต์วิกิพีเดีย และเว็บไซต์องค์กรอนามัยโลก

คลิปอีจันแนะนำ
CEO กองสลากพลัส รับ “งวดนี้ขายหวย 80 ไม่ได้”