มาแล้วนะ! โควิดสายพันธุ์ JN.1 ติด 40 ราย ยังไม่มีคนไทยตายจากสายพันธุ์นี้

กรมวิทย์ฯ เผยสายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มพบมากขึ้นทั่วโลก ส่วนไทยเจอแล้ว 40 ราย ยังไม่มีคนไทยตายจากสายพันธุ์นี้

หลังหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยก็ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดวันที่ 16 ม.ค.67 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มพบมากขึ้นทั่วโลก ส่วนไทยเจอแล้ว 40 ราย แต่ยังไม่ใช่ชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่ง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ในตระกูล ปัจจุบันสายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดสายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86 ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามที่ต่างจาก BA.2.86 คือ L455S (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 455 เปลี่ยนจากลิวซีนเป็นซีรีน) เพิ่มความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ JN.1 มีความได้เปรียบในการเติบโตสูงกว่า XBB.1.9.2 ถึง 73% โดยในช่วงต้นปี 2567 มีรายงานการกลายพันธุ์ของ JN.1 เพิ่มที่ตำแหน่ง F456L (ฟีนิลอะลานีน ถูกแทนที่ด้วยลิวซีนที่ตำแหน่ง 456) รวมกลายพันธุ์สองตำแหน่ง L455S และ F456L เรียกว่า “Slip mutation” ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อ JN.1 ชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่งรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบทั่วโลกจำนวน 41 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม 2567)

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย จนกระทั่งเดือนกันยายนเริ่มมีแนวโน้มลดลง และพบสายพันธุ์ XBB.1.9.2 มาแทนที่ ล่าสุดผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 ทางห้องปฏิบัติการ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 15 มกราคม 2567 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2 ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของ JN.1 เพิ่มมากขึ้น

สายพันธุ์ JN.1 เริ่มพบในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และพบเพิ่มมากขึ้นในเดือนธันวาคม 2566  ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักแทนที่ XBB.1.9.2 จากข้อมูลปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อ JN.1 ในพื้นที่ เขตสุขภาพ 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, และ 13 ซึ่งมีอาการระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้ ไอ เสมหะ เป็นต้น และยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ JN.1 ในประเทศไทย จำนวน 40 ราย ซึ่งยังไม่มีชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่ง

หลีกเลี่ยงอยู่ในที่แออัดและสวมแมสก์เมื่อออกนอกบ้านนะคะ


คลิปอีจันแนะนำ

นาทีชีวิต เจ้าหน้าที่ช่วย โลมาหลังโหนก ติดเชือกล่อหมึก