จับตา! โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 ขึ้นแท่นครองไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ จับตาโควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เตรียมขึ้นเป็นสายพันธุ์หลักที่มีผู้ติดเชื้อมากสุดในไทย

หลังหยุดยาวช่วงปีใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สายพันธุ์โควิด-19 ที่ถูกจับตาว่าจะเข้ามาครองแชมป์การติดเชื้อมากที่สุด คือ สายพันธุ์ JN.1

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์อธิบายถึงการกลายพันธุ์ของ โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 ผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดยระบุว่า  เตรียมพร้อมเผชิญกับโอมิครอน JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเติมจาก 1 ตำแหน่งกลายเป็น 2 ตำแหน่งในรูปแบบ “SLip (L455S+F456L)” 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์  ระบุว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมที่แชร์บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลก “จีเสส (GISAID)” โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่างๆ พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์ EG.5.1 ประมาณ 244 ราย และ JN ประมาณ 15 ราย คาดว่า JN จะระบาดเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของไทยในขณะนี้

ทั้งนี้ โอมิครอนในสายของ JN เดิมมีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม “เพียงตำแหน่งเดียวคือ L455S”  แต่ก็ส่งผลให้มีการระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของ XBB  ในสหรัฐอเมริกา JN.1 กลายเป็นสายพันธุ์หลัก 61.6% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่ระบาด (6 ม.ค. พ.ศ. 2567) จากนั้นในเดือนมกราคม 2567 เช่นเดียวกันพบ JN (JN.1, JN.1.1, JN.1.1.1) มีการกลายพันธุ์เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งรวมเป็นสองตำแหน่งคือ L455S และ F456L พบผู้ติดเชื้อรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบแล้วทั่วโลกจำนวน 41 ราย เรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า “SLip” ยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation จะส่งผลให้มีการระบาดที่รวดเร็วและเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นไปจาก JN.1 สายพันธุ์เดิมที่ส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียว (L455S) หรือไม่ ในประเทศไทยยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์แบบ SLip

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี กำลังเฝ้าติดตามสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย

หมายเหตุ การกลายพันธุ์แบบ “SLip” คล้ายกับ “FLip” แต่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของซีรีน (S) แทนที่จะเป็นฟีนิลอะลานีน (F) บริเวณส่วนหนามที่ตำแหน่ง 455 ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบ L455S และ F456L

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Long COVID ระบุว่า เมื่อ 2 ม.ค.67 วารสารการแพทย์ Nature Reviews Cardiology เผยแพร่บทความทบทวนความรู้ที่ดีมาก เกี่ยวกับปัญหาหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาทอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย Long COVID หรือ Post-COVID syndrome

หลังจากติดโควิดช่วงแรกไปแล้ว ผู้ป่วยเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระยะยาวดังที่เราทราบกันในชื่อ Long COVID ซึ่งเกิดความผิดปกติได้ในแทบทุกระบบของร่างกาย

ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัตินั้นเป็นระบบหนึ่งที่พบปัญหาได้บ่อย และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่อ่อนเพลียเหนื่อยล้า มีปัญหาด้านความคิดความจำและสมาธิ ปวดหัว ทนร้อนทนหนาวไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว เป็นลม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว/เต้นช้าผิดปกติ ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่า ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ทั้งนี้มีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีความหลากหลาย แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน โดยมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินการกันอยู่ทั่วโลกจำนวนมาก ทั้งการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การให้ยาปรับภูมิคุ้มกัน การกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์อีกระยะหนึ่ง

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต่างๆ ข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์และได้รับการดูแลรักษา

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 7 – 13 ม.ค.67 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)

จำนวน 625 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 89 ราย/วัน

ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 7 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน

ยังคงเตือนกันด้วยคำพูดเหมือนเดิม ดูแลสุขภาพหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ

กล้าอยู่มั้ย? บ้านพักครู พร้อมเข้าอยู่