โอมิครอน CH.1.1 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเหนือกว่า BQ.1.1 และ XBB.1.5

ศูนย์จีโนม เผย โอมิครอน CH.1.1 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเหนือกว่า BQ.1.1 และ XBB.1.5 และทำให้มีอาการรุนแรง ล่าสุดไทยพบผู้ป่วยติดโอมิครอน CH.1.1 แล้วจำนวน 168 ราย

เรื่องโควิด 19 ให้พูดก็ไม่จบ เพราะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สายพันธุ์ CH 1.1 ต้องจับตาให้มั่น

วันนี้ (31 ม.ค.66) เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics (ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) โพสต์ถึงสายพันธุ์โควิดที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ตอนนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาโอมิครอน “CH.1.1” ที่พบการระบาดใหญ่ในนิวซีแลนด์ มีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้เหนือกว่า BQ.1.1 และ XBB.1.5 และมีโปรตีนส่วนหนามบางตำแหน่งเหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่สามารถก่อให้เกิดการหลอมรวมของเซลล์ที่อยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ (fusogenicity) ดึงดูดให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้ามาทำลายเกิดอาการอักเสบที่รุนแรงขึ้น

CH.1.1 พบเริ่มอุบัติขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 จากนั้นแพร่ระบาดไปยังสหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์โดยมีส่วนแบ่งการระบาด 25% และ 40% ตามลำดับ

ขณะนี้ตัวอย่างที่ถูกสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมจากทั่วโลกและแชร์ข้อมูลบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID”  พบเป็นโอมิครอน CH.1.1 ประมาณ 10%

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US-CDC) แถลงว่าขณะนี้ พบโอมิครอน CH.1.1 แพร่ระบาดในสหรัฐร้อยละ 1.5%

ฮ่องกงและปาปัวนิวกินี มีผู้ป่วยราวหนึ่งในสี่ของประเทศติดเชื้อโอมิครอน CH.1.1  ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อในกัมพูชาและไอร์แลนด์ประมาณหนึ่งในห้าเป็นเชื้อโอมิครอน CH.1.1

ประเทศไทยตรวจพบโอมิครอน CH.1.1 จำนวน 168  รายจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมและแชร์ข้อมูลไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID”  โดยมีส่วนแบ่งการระบาดภายในประเทศ 5 %

ทำไมโอมิครอน CH.1.1 ถึงน่ากังวล?

โอมิครอน CH.1.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่ตำแหน่งกรดอะมิโน“L452R”  ที่เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา (โอมิครอนปรกติจะไม่มีการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งนี้) ซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้ออาการรุนแรง เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลตา เนื่องจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าส่วนหนามที่กลายพันธุ์ไปสามารถจับกับผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้หลากหลายอวัยวะนอกเหนือไปจากเซลล์ปอด ก่อให้เกิดการหลอมรวมของเซลล์ที่อยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ (fusogenicity) ดึงดูดให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้ามาทำลายเกิดอาการอักเสบที่รุนแรงขึ้น

โอมิครอน CH.1.1 ไม่ใช่ “เดลทาครอน” ที่มีการแลกเปลี่ยนบางส่วนของสายจีโนมระหว่างสายพันธุ์เดลต้าและโอไมครอน แต่เป็นรุ่นเหลนของโอมิครอน BA.2.75 เป็นตัวอย่างสำคัญของการวิวัฒนาการที่กลับมาบรรจบกัน  (convergent evolution) กล่าวคือสายพันธุ์ของโควิดมีวิวัฒนาการอย่างอิสระแต่กลับมีการกลายพันธุ์ในรูปแบบเดียวกัน (ระหว่างสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน) อันเนื่องมาจากแรงกดดันจากภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติในหมู่ประชากร

ดร. คอร์นีเลียส โรเมอร์ (Cornelius Romer) นักชีวสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยบาเซิลในสวิตเซอร์แลนด์ มีความเห็นว่าโอมิครอนลูกผสม  XBB.1.5 ยังคงเป็นสายพันธุ์โควิดที่สามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566  อย่างไรก็ดีควรเฝ้าระวังโอมิครอน CH.1.1 เพราะสามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วเช่นกัน โดยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าในทุกสองสัปดาห์หรือมากกว่านั้น

นอกจากนี้โอมิครอน XBB.1.5, BQ.1.1, CH.1.1, และ CA.3.1 ดื้อหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีด mRNA ดั้งเดิม (monovalent vaccine)  จำนวน 3 เข็มได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ดั้งเดิมครบโดส 3 เข็มตามด้วยวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นสองสายพันธุ์ (bivalent booster) อีกหนึ่งเข็มจะมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน XBB.1.5, BQ.1.1, CH.1.1, และ CA.3.1 อยู่บ้าง

การสวมแมสก์เมื่อออกนอกบ้านยังสำคัญในการป้องกันโควิด 19

คลิปอีจันแนะนำ
น.1 แถลงเอง ปม ตำรวจรีดเงินดาราไต้หวัน