นักวิทย์ยังงง! คาดการณ์ไม่ได้โควิดจะกลายพันธุ์ อีกนานแค่ไหน

นพ.ธีระ เผย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เลยว่า ไวรัสโรคโควิด-19 จะยังคงสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างรวดเร็วเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด

วันนี้คนรอบตัวกลับมาติดโควิด-19 กันอีกครั้ง และข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า ในรอบ 7 วัน ระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2566 มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 2,632 ราย เฉลี่ยรายวัน 376 ราย/วัน เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 7 ราย/วัน

ล่าสุด วันนี้ (24 พ.ค.66) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตความรู้โควิด-19 “XBB.1.16” ว่า…

ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) จนถึง 23 พฤษภาคม พบว่า XBB.1.16 มีรายงานตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 64 ประเทศทั่วโลก สัดส่วนของสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.16 นั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก

การระบาดของไทยเกิดจากกลุ่มสายพันธุ์ย่อย XBB.x ครองสัดส่วนถึง 90.49% โดยมีสายพันธุ์ย่อยมากถึง 60 สายพันธุ์ย่อย

ทั้งนี้ XBB.1.16 พบมากสุดราว 18.67% ตามด้วย XBB.1.5 10.73% และ XBB.1.9.1 9.87% ในขณะที่พบ XBB.2.3.x ด้วย รวมราว 5.37%

ด้วยสถานการณ์ลักษณะซุปสายพันธุ์ที่หลากหลายเช่นนี้ โดยการมีทั้งเคสติดเชื้อ ป่วย ตาย จำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่สัดส่วนสายพันธุ์ย่อยแตกต่างกันไม่มาก จึงต้องตีระฆัง ปักธง เตือนให้ระวังให้ดี

เพราะระลอกที่เรากำลังเผชิญน่าจะเป็นผลจาก “ปัญหาพฤติกรรมป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน” รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันที่ถดถอยลง และปัจจัยแวดล้อมทางสังคมมากกว่าเรื่องปัจจัยด้านสมรรถนะไวรัส

“COVID-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่”

Kistler KE และ Bedford T จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยสำคัญใน bioRxiv เมื่อ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

เปรียบเทียบให้เห็นว่า ไวรัสโรคโควิด-19 นั้นมีอัตราการกลายพันธุ์โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่เปลือกนอกของไวรัส เร็วกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ถึง 2-2.5 เท่า

เราจึงไม่แปลกใจที่เห็นการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลง เกิดสายพันธุ์ใหม่มากมายและรวดเร็ว

ทั้งนี้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เลยว่า ไวรัสโรคโควิด-19 นั้นจะยังคงสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างรวดเร็วเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด และยังไม่สามารถคาดการณ์ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไวรัสได้อย่างแม่นยำด้วย นี่จึงเป็นอุปสรรคในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงทำให้การสร้างวัคซีนที่จะทันต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ก็เป็นไปได้ยาก

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหลักที่องค์การอนามัยโลกออกมาย้ำเตือนเราอย่างต่อเนื่องว่า ทุกประเทศไม่สามารถที่จะพึ่งพาเฉพาะผลจากวัคซีนในการควบคุมป้องกันการระบาดได้ แต่จำเป็นต้องเน้นย้ำเรื่องพฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชน และวิธีอื่นๆ ทางสาธารณสุขควบคู่กันไปด้วย

การป้องกันตัวเองยังจำเป็นสวมแมสก์ทุกครั้งที่ออกนอนกบ้าน และหลีกเลี่ยงอยู่ในที่แออัด

คลิปอีจันแนะนำ
นาทีชีวิต! สาวท้องแก่ ได้รับยาผิด ชีวิตเกือบไม่รอด