
โควิด 19 ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัว ดังนั้นการรู้เท่าทันโควิด 19 ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
วันนี้ (10 มี.ค.66) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับงานวิจัย ลอง โควิด (Long COVID) ที่
อัปเดตจากการประชุมรัฐสภายุโรป (European Parliament) ว่า...
จากการประชุมรัฐสภายุโรป เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เป็นการประชุมของ Special Committee on the COVID-19 Pandemic มี
สาระสำคัญ คือ
Prof.Peter Piot จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine และเป็น Commission's advisory panel on COVID-19 ได้นำเสนอถึงประสบการณ์ที่เผชิญกับปัญหา Long COVID ด้วยตนเอง หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2020 และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานอย่างมาก
ซึ่งงานวิจัยได้คาดประมาณว่าจะมีคนทั่วโลกกว่า 65 ล้านคนที่ประสบปัญหา Long COVID โดยในพื้นที่องค์การอนามัยโลกภูมิภาคยุโรป ประเมินว่าจะมีราว 17 ล้านคน
ซึ่งกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากสุดจะอยู่ในช่วง 35-69 ปี เพศหญิง รวมถึงกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่จำกัดสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เดิม
ทั้งนี้ ในอเมริกามีงานวิจัยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ว่าสูงถึง 3.7 ล้านล้านเหรียญ ในขณะที่สหราชอาณาจักรนั้นประเมินว่าได้รับผลกระทบราว 2,500 ล้านปอนด์
นอกจากนี้ Long COVID ยังส่งผลกระทบต่อระบบงานในอเมริกา โดยทำให้สูญเสียแรงงานราว 4 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียประมาณ 170,000 ล้านเหรียญ
ด้วยความรู้ในปัจจุบัน ประเมินว่าหากติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ราว 10% แต่มีรายงานได้ตั้งแต่ 5-50% ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Prof.Dominique Salmon ประเทศฝรั่งเศส ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 15-30% ที่ประสบปัญหาอาการผิดปกติต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4-6 เดือน
ขณะที่ เพศหญิงเสี่ยงต่อการเกิด Long COVID มากกว่าชาย 1.2-2 เท่า อย่างไรก็ตามทุกเพศ ทุกวัย ล้วนเกิด Long COVID ได้ โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นของ Long COVID นั้นมีได้ทุกระบบในร่างกาย กว่า 200 อาการ ซึ่ง 75% ของอาการผิดปกติที่ได้รับรายงานจากผู้ป่วย Long COVID นั้น มักอยู่ในลักษณะอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า, ปัญหาด้านความคิดความจำ สมาธิ สมองและระบบประสาท, และเกี่ยวกับระบบหัวใจและทางเดินหายใจ
โดยการวิจัยที่ติดตามไปยาวถึง 1 ปี ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วย Long COVID ราว 10-15% ที่ยังมีอาการคงค้าง และกระทบต่อการดำเนินชีวิต และยังไม่มียารักษา Long COVID แต่การฉีดวัคซีน และยาต้านไวรัส Ensitrelvir จะช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้
การประชุมนี้ ได้มีการหารือและประเมินว่า ด้วยจำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกสูงมากระดับพันล้านหรือหลายพันล้านคน ผลกระทบที่ทั่วโลกจะต้องเผชิญจากปัญหา Long COVID นั้นอาจมากกว่าปัญหาอื่นๆ ที่เคยพบมา
ดังนั้น ควรตระหนักและรู้เท่าทันสถานการณ์ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเป็นกิจวัตร ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง และสวมแมสก์เมื่อออกนอนกบ้าน จะช่วยป้องกันการติดโควิดได้ หรือลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ