เตือน! โรคอุจจาระร่วง–โรคฉี่หนู ภัยที่มากับน้ำท่วม

รู้ไว้เพื่อป้องกัน 2 โรคอันตราย โรคอุจจาระร่วง – โรคฉี่หนู ภัยที่มากับน้ำท่วม

เพราะปัญหาน้ำท่วมยังมีอยู่ และสร้างความเดือดร้อนทุกข์ใจให้กับพี่น้องในอีกหลายจังหวัด ทั้งพี่น้องภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ซ้ำร้ายน้ำที่ท่วมยังพาโรคร้ายมาให้อีก

เพื่อเป็นการเตือนภัยและให้พี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วมได้สังเกตและป้องกัน โรคภัยที่มาพร้อมกับน้ำท่วม อีจัน ขอนำเรื่อง โรคอุจจาระร่วง และ โรคฉี่หนู มาบอกกันนะคะ

“โรคอุจจาระร่วง”

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ซึ่งเราสามารถรับเชื้อได้ผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไป ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 วัน

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย

สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ทำได้โดย

-กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือ สุก ๆ ดิบ ๆ

-หากอาหารที่จะกินเก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง

-เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาด

-ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก

“โรคฉี่หนู”

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา สามารถติดเชื้อได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัส หรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนัง

ในช่วงฤดูฝนซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือน้ำท่วม ต้องระวังโรคฉี่หนูเป็นพิเศษ เพราะน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่าง ๆ ไหลมารวมกันเป็นแอ่งน้ำ เมื่อเราเดินลุยน้ำท่วมร่างกายจะได้รับแบคทีเรียเข้าไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น หนู สุกร โค สุนัข เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้ากระแสเลือดและกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของ ร่างกาย มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการเร็วช้าแต่ละคนไม่เท่ากัน บางรายเร็วภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์หรือประมาณ 1 เดือน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อได้รับเชื้อโรคฉี่หนู จะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง ตัวเหลือง คลื่นไส้ และอาเจียน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับตับและไต และอาจรุนแรงทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง

กรณีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม มีความจำเป็นต้องลงแช่น้ำหรือลุยน้ำให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จภารกิจ เพื่อลดระยะเวลาของการสัมผัสกับเชื้อ

น้ำท่วมก็ทุกข์ใจอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ารู้วิธีป้องกันอันตรายจากโรคภัยต่าง ๆ ที่มากับน้ำท่วมได้ก็เป็นเรื่องดีนะคะ

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค

คลิปอีจันแนะนำ
ทุกข์ตรมใจ น้ำท่วมศรีสะเกษ 2565