โรคความดันสูง ภัยเงียบ ทำเสี่ยงตายไม่รู้ตัว

อย่าคิดว่าแค่โรคความดันสูง ไม่มีอะไรมาก รู้ไว้เลย “โรคความดันสูง” นี่แหละที่พาเพื่อนๆ สารพัดโรคมารุมทึ้งสุขภาพ ทำเสี่ยงตายไม่รู้ตัว

ความดันสูง โรคที่เป็นแล้วไม่รู้ตัว

เพราะความไม่รู้ตัวนี่แหละที่ทำให้ละเลย และเสี่ยงตาย

ความดันสูง หรือ โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ตรวจพบความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือวัดได้ที่ 140/90

หมายถึง ความดันโลหิตระหว่างหัวใจบีบตัวได้มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท หรือวัด ความดันโลหิตระหว่างหัวใจคลายตัวได้มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากการสำรวจ พบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 25

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ โรคความดันสูงน่ากลัว เพราะ…

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็น และยิ่งไม่มีอาการอะไรบ่งบอกยิ่งไม่มีใครสนใจ

กว่าจะรู้ตัวก็มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว และทำให้เสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ รวมทั้งทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง จนอาจต้องรับการล้างไตได้

มาดูว่าปัจจัยอะไรบ้างทำให้ความดันโลหิตสูง

1. อายุ : เมื่ออายุมากขึ้นความดันก็จะสูงขึ้น เช่น ขณะอายุ 18 ปีความดันโลหิต เท่ากับ 120/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิต อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 140/90 แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้น เสมอไป อาจวัดได้ 120/70 เท่าเดิมก็ได้

2. ช่วงเวลาของวัน : ความดันโลหิตจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ในตอนเช้าความดันอาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำเพียง 100 มม.ปรอท

3. จิตใจและอารมณ์ : มีผลต่อความดันโลหิต ความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติถึง 30 มม.ปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้

4. เพศ : เพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง

5. พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม : ผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว

6. สภาพภูมิศาสตร์ : ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท

7. เชื้อชาติ : ชาวตะวันตกพบความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวเอเชีย

8. ปริมาณเกลือที่รับประทาน : ผู้ที่รับประทานเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อย เช่น ชาวญี่ปุ่นตอนเหนือรับประทานเกลือมากกว่า 27 กรัม/วัน มีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงถึง 39% ส่วนชาวญี่ปุ่นตอนใต้รับประทานเกลือวันละ 17 กรัม/วัน เป็นมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพียง 21%

แนวทางลดความดันให้มาอยู่ในเกณฑ์ปกติ

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ และรับประทานอาหารให้เหมาะสม

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จำกัดการกินเกลือ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีอาการใด ๆ เลย หรืออาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ และเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่น หน้าอกหรือนอนไม่หลับ

ลองสังเกตอาการตัวเองดูนะคะ จะได้เตรียมรับมือกับความดันสูงได้ทัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-53.pdf

คลิปอีจันแนะนำ
ขังเดี่ยว ทักษิณ นช. แดน 7 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ