รู้จัก รู้ทัน เลี่ยงเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตกหรืออุดตัน

โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตกหรืออุดตัน เลี่ยงเสี่ยง รู้ให้ทัน ป้องกันก่อนสายเกินไป

หลอดเลือดของเราเปรียบเสมือน “ท่อ” ที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปทั่วร่างกาย เมื่อท่อผ่านการใช้งานนานๆ เข้าก็จะมี “ตะกรัน-ตะกอน” เกาะตามผนังท่อหนาขึ้นเรื่อยๆ มากเข้าก็จะเกิดการตีบ และอุดตัน และทำให้ท่อแตกในที่สุด (หลอดเลือดแตก)

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดและออกซิเจนที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เซลล์สมองค่อยๆ ตายลง

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. หลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน (ischemic stroke)

  2. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในเนื้อสมอง (intracerebral hemorrhage) หรือเยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage)

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน

โรคหลอดเลือดสมอง สามารถเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน ที่ไม่สามารถควบคุมได้

  • อายุ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

  • เพศ ผู้ชายจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้มากกว่าผู้หญิง

  • เชื้อชาติ พันธุกรรมบางชนิด

ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน ที่สามารถควบคุมได้

ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ

  • โรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เกล็ดเลือดสูง เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ

  • รวมทั้งหัวใจวายและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด

  • โรคอ้วน และภาวะนอนกรน

  • การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด หรือยากระตุ้นบางชนิด

  • ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีภาวะเครียด

FAST หลัก สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมอง

อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเป็นแบบฉับพลัน ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้ แบ่งสังเกตอาการตามหลัก FAST ดังนี้

F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่าย ๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน แล้วสังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่?

A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ

S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนอาจคิดว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน ทดสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่าย ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น

T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง

ปัจจุบัน หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือด เข้ารับการรักษาทันเวลาภายใน “4 ชั่วโมงครึ่ง” ซึ่งเป็นเวลาที่เรียกกันว่า “Stroke Golden Hour” แพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดและช่วยให้สมองบริเวณที่ขาดเลือดกลับมาทำงานอย่างปกติ

การรักษาด้วยแพทย์

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับอาหารของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างทันท่วงที จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค ได้แก่

  • การรักษาโดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (IV rt-PA)

  • การรักษาโดยลากสวนลิ่มเลือดออกจากสมอง (Mechanical Thrombectomy)

  • การรักษาโดยการผ่าตัด (Surgery)

นอกจากการตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้ว การดูแลสุขอนามัยของตนเองก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตันได้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยมาก

  • ลดอาหารรสเค็ม อาหารคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง

  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

  • กรณีมีความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

  • หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำเสมอ

หากเริ่มสงสัยว่าตัวเองเริ่มมีอาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตเฉียบพลัน

ขอบคุณข้อมูล praram9 , nakornthon

คลิปอีจันแนะนำ
เอ็ม เล่า วันเกิดเหตุ ข่มขืนดารา