เดินวันละ 10,000 ก้าว ได้ประโยชน์ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

หมอธีระวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ชี้ เดินวันละ 10,000 ก้าว สร้างสุขภาพดี ไม่ต้องเสียเงิน

ลูกเพจเคยนับกันมั้ยคะ ว่าเดินวันละกี่ก้าว แล้วคิดว่าการเดินวันละ 10,000 ก้าวได้ประโยชน์จริงหรือ? ‘อีจัน’ มีคำตอบมาฝากค่ะ 

วานนี้ (28 พ.ย.66) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นการเดินวันละ 10,000 ก้าว ที่เป็นเป้าหมายของหลายคน ตลอดจนมีโฆษณาต่างๆ ว่ามีประโยชน์ยังไง มีที่มาจากไหน และมีข้อพิสูจน์หรือไม่ ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า 

จากการวิเคราะห์ความจริงและที่มาเหล่านี้ ของคุณหมอ Christopher Labos ซึ่งเป็นหมอหัวใจและทำทางด้านระบาดวิทยา ที่เผยผ่านวารสารวิทยุและโทรทัศน์ที่มอนทรีออล แคนาดา และเผยแพร่ทาง เมดสเคป ในวันที่ 21 มี.ค. 2022 พบว่าที่มาของวันละ 10,000 ก้าว เริ่มจากบริษัทญี่ปุ่น Yamasa Tokkei เริ่มขายและจำหน่ายเครื่องออกกำลังแบบนับเก้า ตั้งแต่ ปี 1965 ที่ชื่อว่า manpo-kei หรือตัวจับวัด 10,000 ก้าว  

ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ออกมาเป็นแคมเปญรณรงค์ให้มาเดินวันละ 10,000 ก้าว ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้ที่มายังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ส่งผลให้คนอยากออกกำลังกาย โดยจำนวนก้าวดังกล่าว จะได้ผลลัพธ์ประมาณกับการเดินเคลื่อนไหวการทำงานออกกำลังในแต่ละวัน 

ปกติคนทั่วไปมักจะมีการเคลื่อนไหวก้าวเดินอยู่ระหว่าง 5,000 – 7,500 ก้าว ในแต่ละวันอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเพิ่มการเดินขึ้นอีกประมาณ 30 นาทีต่อวันก็จะได้เพิ่มเสริมเติมขึ้นมาอีก 3,000 – 4000 ก้าว จนกระทั่งใกล้เคียง 10,000 

การตั้งเป้านี้ ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็ไม่น่าผิดอะไร แถมยังจำง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้ถึงเป้าหมายได้ทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่ถึง 10,000 ก้าว จะไม่ได้ประโยชน์ เพราะจากการศึกษาเผยแพร่ใน JAMA Network Open ซึ่งเป็นการติดตามกลุ่มประชากร 2110 ราย ในโครงการ CARDIA ยืนยันผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์ถ้าเดินมากขึ้น พบว่าอัตราเสียชีวิตจากทุกสาเหตุจะลดลง และที่น่าดีใจก็คือถ้าเดินอยู่ระหว่าง 7000 ถึง 10,000 ก้าว ก็ยังได้ประโยชน์พอกัน 

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ในคนแคนาเดี้ยน ดูจะเป็นเครื่องปลอบใจ คนที่เดินไม่ถึงระดับนั้นได้ โดยให้คนที่มีโรคเบาหวาน จัดให้อยู่ในโปรแกรมตามปกติหรือจัดให้อยู่ในโปรแกรมเสริมโดยมีการแนะนำจัดให้มีการออกกำลังด้วยการเดิน และในกลุ่มนี้เองแม้ว่าเพียงเพิ่มการเดินจากวันละ 5000 เพิ่มเป็นถึงประมาณ 6200 ระดับน้ำตาลและการควบคุมภาวะเบาหวานก็ดีขึ้นด้วย 

แถมยังสอดคล้องกับการศึกษาอีกหนึ่งชิ้นโดยจัดโปรแกรมการเดิน 24 สัปดาห์ ในสตรีวัยหมดระดู พบว่าลดความดันได้ถึง 11 แต้มทั้งที่เดินได้ไม่ถึง 10,000 อยู่ที่ 9000 ต่อวัน ในการศึกษาของคนญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยกว่าก็ตาม พบว่าสตรีที่หมดระดูหรือไม่มีประจำเดือนแล้ว มีระดับไขมันดีขึ้นแม้ว่าจะเดินเพิ่มจาก 6800 เป็น 8500 ต่อวันเท่านั้น 

การศึกษาของ US NHANES ก็ได้ผลตอกย้ำเช่นเดียวกันว่า คนที่เดินมากกว่า 8000 จะตายน้อยกว่าคนที่เดินน้อยกว่า 4000 ก้าวต่อวัน โดยที่ระดับที่ดูจะได้ประโยชน์สูงสุดจะอยู่ประมาณ 9000 ถึง 10,000 

เมื่อประมวลหลักฐานที่ผ่านมา การตั้งเป้าวันละ 10,000 ถือว่าเป็นเรื่องดีและมีประโยชน์แน่ สำหรับคนขี้เกียจหน่อยแม้ว่าจะน้อยกว่าบ้าง ก็ยังคงได้ประโยชน์เช่นกัน ประเด็นที่เราควรจำขึ้นใจก็คือ ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ โดยไม่ลงทุน และการลงทุนนี้เป็นเพื่อสุขภาพของตัวเอง  

ทั้งนี้ ไม่ต้องถึงกับนับก้าวก็ได้นะ เพียงแค่เดินเพิ่ม เดินวันละนิด ตากแดดวันละหน่อย ไม่ต้องถึงกับเข้ายิม ฟิตเนส เสียสตางค์เดือนละเป็นพันหรือเป็นหมื่น ก็ได้ประโยชน์เหมือนกันค่ะ