เตือน! ฟันผุ อันตรายกว่าปวดฟัน เพราะส่งผลเสียต่อหัวใจ

อย่าคิดแค่ว่าฟันผุ! เพราะเชื้อโรค “สเตร็ปโตคอคคัส” ที่ทำให้เกิดฟันผุ เป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ตรวจพบในเยื่อบุหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ

นับจากนี้เรื่องฟันผุ ต้องไม่ใช่แค่ “ฟันผุ” แล้วนะคะ

เพราะมีอันตรายลามสู่โรคหัวใจด้วย

ข้อมูลจาก ทันตแพทย์หญิงนฤมล ทวีเศรษฐ์ งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งยังเกิดในเด็กทารกได้ด้วย โดยหลังจากการดูดนม ควรมีการดูดน้ำตามเพื่อทำความสะอาดคราบน้ำตาลที่ติดตามฟัน เพราะน้ำตาลในนมสามารถทำให้เกิดฟันผุได้

ส่วนเด็กในวัยเรียนก็มักจะชอบรับประทานขนมหวาน ลูกอม ขนมขบเคี้ยว ก็ทำให้เกิดฟันผุ สำหรับช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานพอเติบโตขึ้นการกินขนมเหมือนกับวัยเด็กก็จะลดลง ฟันผุก็ลดลงกว่าเด็ก แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่จะพบโรคเหงือกมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่รักษาก็จะลุกลามกลายเป็นโรคเหงือกอักเสบได้

แม้ฟันผุจะเริ่มจากรูเล็ก ๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาก็จะกลายเป็นรอยผุที่ขยายใหญ่ขึ้นและอาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยเชื้อโรคจะลุกลามไปที่รากฟัน เกิดหนองส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็น ตา โพรงไซนัส และสมอง

แล้วรู้ไหม? ว่า อาการปวดฟันจากฟันผุ หากปล่อยให้ลุกลามจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เชื้อโรคจะแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ และส่งผลเสียต่อโรคหัวใจ

เนื่องจากเชื้อโรคที่ทำให้เกิดฟันผุ คือ  “สเตร็ปโตคอคคัส” ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวที่ตรวจพบที่เยื่อบุหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ

แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีความเข้าใจกันก่อนว่า โรคหัวใจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แม้ว่าจะมีการศึกษาติดตาม แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันข้อมูลรับรองว่าฟันผุทำให้เกิดโรคหัวใจได้หรือไม่

แต่พบว่ามีผลเสียต่อโรคหัวใจ เมื่อใดที่มีเลือดออกในช่องปาก เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะสามารถเข้าไปในกระแสเลือดได้ และเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการปวดฟันมาเข้ารับการรักษา อาจต้องให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การดูแลฟันมีหลักใหญ่อยู่ 3 ประการ คือ 1.แปรงฟันให้สะอาดถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง 2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และ 3.ควรตรวจฟันทุก 6 เดือน

ดังนั้น การดูแลป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุจึงดีกว่าต้องมารักษานะคะ

ที่มา : https://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/07162015-1053-th