พฤติกรรมเนือยนิ่ง! อันตรายอย่านิ่งนอนใจ

ผลวิจัยชี้ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เสี่ยงโรค วิธีแก้หมั่นขยับร่างกายช่วยลดเสี่ยงได้

เตือน! คุณพ่อคุณแม่

อย่าให้ลูกนั่งนิ่งๆ ไม่ขยับ เล่นแต่โทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือดูทีวี

เพราะสิ่งเหล่านี้ เสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง!

ข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ปี 2565 ว่า เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 15.16

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก แนะนำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่น อายุ 5-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป)

และควรจำกัดเวลาที่ใช้ไปกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่อยู่กับหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมง/วัน และเพิ่มโอกาสให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก เล่นกีฬา ซิทอัพ ดันพื้น และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ส่วนผู้ใหญ่อย่างเราๆ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เนื่องจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตติดที่-ติดโต๊ะ-ติดจอ ทั้งนั่งเรียนและนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง”ส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะเป็นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases; NCDs) เช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ที่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนองค์การอนามัยโลกออกมารณรงค์แนะนำให้คนรักสุขภาพทั้งหลายขยับร่างกายให้มากขึ้น

นอกจากนี้มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ มีผลต่อกลไกเมตาบอลิซึม (metabolism) หรือสรีรวิทยาที่ช่วยให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำหน้าที่ได้ตามปกติ

ดังนั้น ถ้ามีเวลา มีโอกาส ขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกาย ก็ควรทำนะคะ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคจากพฤติกรรมอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยขยับเขยื้อน ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร และส่งเสริมคุณภาพชีวิต

อ้างอิงที่มา :

https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/news220466/?fbclid=IwAR066hH4hJpDs-Azc3Wi4WO0_XG2xmUlsjVal9WrnqJ3XIakUoQkNXjSYq8

https://www.chula.ac.th/highlight/76229/