ทำความรู้จัก เครื่อง ECMO คืออะไร ?

เครื่อง ECMO ช่วยเติมออกซิเจนในเลือดและนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งทำหน้าที่คล้ายปอดของคน และยังช่วยเรื่องระบบการไหลเวียนเลือด ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม

เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะหัวใจและปอด ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานภายในร่างกาย

เมื่อหัวใจและปอดเกิดผิดปกติ ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ECMO หรือเครื่องปอดและหัวใจเทียม จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยส่งเสริมการรักษาและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน

ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ extracorporeal life support (ECLS) เป็นเครื่องปอดและหัวใจเทียม (cardiopulmonary bypass) ชนิดลดรูปแบบ ซึ่งออกแบบเพื่อให้ใช้นอกห้องผ่าตัดได้ด้วย

อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ส่วนเครื่องปอดและหัวใจเทียมชนิดเต็มรูปแบบ (heart-lung machines) จะใช้ระหว่างการผ่าตัดหัวใจซึ่งใช้งานได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

สำหรับหน้าที่ของ ECMO คือการเติมออกซิเจนในเลือดและนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งทำหน้าที่คล้ายปอดของคน และยังช่วยเรื่องระบบการไหลเวียนเลือด ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม โดยทำหน้าที่คล้ายหัวใจของคนได้อีกด้วย

ซึ่ง ECMO จะถูกนำมาใช้เพื่อทดแทนการทำงานของปอดและหัวใจเป็นเวลาหลายวัน จนกว่าปอดและหัวใจจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ถือเป็นการช่วยส่งเสริมการรักษา และยังช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน

การใช้ ECMO จะเกิดขึ้นในกรณีใดบ้าง?

-หัวใจหยุดเต้นจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และไม่ตอบสนองต่อการช่วยชีวิตขั้นสูง

-ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดแดงในปอด ทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้ปกติ

-หัวใจล้มเหลวร่วมกับระบบการหายใจล้มเหลวจากหลายสาเหตุ เช่น ARDS หรือไวรัส H1N1, Covid19

-ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ แล้วพบว่าหลังการผ่าตัด..หัวใจและปอดยังไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ

-ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มที่เครื่องช่วยหายใจไม่สามารถช่วยเรื่องการแลกเปลี่ยนก๊าซในร่างกายได้อย่างเพียงพอ

-ผู้ป่วยที่รอการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดใหม่

ข้อจำกัดในการใช้เครื่อง ECMO

แม้เครื่อง ECMO จะช่วยซัพพอร์ทการทำงานของหัวใจและปอด แต่หากผู้ป่วยมีปัจจัยร่วมบางประการ ก็ไม่สามารถพิจารณาให้ผู้ป่วยมาใช้เครื่อง ECMO ได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย, ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจมาเป็นระยะเวลานาน หรือผู้ป่วยที่มีภาวะ Aortic Regurgitation/Dissection เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าอาจมีผลข้างเคียงบางประการจากการใช้เครื่อง ECMO ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเลือดออกในสมอง, ภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ขา ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ ระบบ Veno-Arterial ECMO, ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก, ภาวะติดเชื้อ, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ดังนั้น ทีมแพทย์ พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ จึงต้องเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท