ความเครียด ภัยเงียบทำร้ายชีวิต เรียนรู้จัดการตนเองห่างไกล โรคเครียด

เรียนรู้จัดการตนเองห่างไกล โรคเครียด อย่างถูกวิธีก่อนเกิดเรื่องร้ายรีบจัดการ ความเครียด เข้าใจรู้ทันการทำผิดกฎหมายกับการ “แกล้งบ้า”

สืบเนื่องจากข่าวในช่วงนี้มีแต่เรื่องชวนเครียด แต่ละเหตุการณ์เรื่องราวรุนแรงกระทำผิดมักมีต้นตอมาจากความเครียด วันนี้เรามารู้จักภาวะความเครียด การจัดการความเครียดด้วยตนเอง เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี หลีกเลี่ยงภาวะโรคเครียด เพื่อจัดการกับความเครียดก่อนที่จะสายเกินไป

ความเครียดเกิดขึ้นเมื่อคนเราต้องเผชิญกับความกดดัน ทั้งทางร่างกายจิตใจและอารมณ์ ความเครียดเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่ว่าจะจากภาระงานที่หนักมากเกินไป, การเรียนที่หนักหน่วง การต้องเผชิญกับภาวะกดดันต่างๆ ฯลฯ หลากหลายสาเหตุเหล่านี้ ทำให้ร่างกายมีความเครียดเกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยไว้นานวันเข้าอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ หรือเข้าสู่สภาวะโรคเครียดได้โดยไม่รู้ตัว

โรคเครียด

โรคเครียด สามารถเกิดได้ทุกแห่งทุกเวลา ความเครียดเป็นระบบเตือนภัยของร่างกายให้เตรียมพร้อมที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การมีความเครียดน้อยเกินไปและมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าความเครียดเป็นสิ่งไม่ดีมันก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว แน่นท้อง มือเท้าเย็น แต่ความเครียดก็มีส่วนดี เช่น ความตื่นเต้นความท้าทายและความสนุก สรุปแล้วความเครียดคือสิ่งที่มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย

ชนิดของความเครียด

Acute Stress (ความเครียดเฉียบพลัน) คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกันโดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไปร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิม ฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ ตัวอย่างความเครียด เช่น เสียง อากาศเย็นหรือร้อน ชุมชนที่คนมากๆ ความกลัว ตกใจ หิวข้าว เป็นต้น

Chronic Stress (ความเครียดเรื้อรัง) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวอย่างความเครียดเรื้อรัง เช่น ความเครียดจากที่ทำงาน ความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเครียดของแม่บ้าน และความเหงา

อาการจากความเครียด

  • ทางร่างกาย หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ ปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืด ม่านตาขยาย เหงื่อออก กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจเร็วตื้นๆ ความเครียดสะสมทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง แผลในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย โรคภูมิแพ้ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มะเร็ง เป็นต้น

  • ทางจิตใจ อาจเกิดอารมณ์โกรธ โมโห ฉุนเฉียว วิตก กังวล เสียความมั่นใจ หมดความภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้เกิดโรคประสาท โรคจิต โรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นต้น

  • ทางพฤติกรรม อาจมีอาการเบื่ออาหารหรือกินอาหารมากผิดปกติ แยกตัวเอง หนีสังคม ก้าวร้าว นอนไม่หลับ เที่ยวเตร่ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ติดสารเสพติด ติดการพนัน ส่งผลให้การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันบกพร่อ

ความเครียดอาจทำให้บ้าแต่อย่าแกล้งบ้า ไปกระทำผิดกฎหมาย

การทำผิดกฎหมายกับป่วยจิตเวช อันดับแรกเราต้องเริ่มจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนครับ ซึ่งข้อกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ซึ่งว่าด้วย “ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

ในขณะที่โรคทางจิตเวชส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มโรควิตกกังวลหรือกลุ่มโรคซึมเศร้า มักจะไม่เข้าข่ายหลักการนี้ ดังนั้นไม่ใช่ว่าเป็นโรคทางจิตเวชอะไรก็ได้ แล้วไม่ต้องรับผิดเลย อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ โดยในวรรคที่สองของข้อกฎหมายยังระบุเพิ่มเติมไว้อีกว่า หากศาลพิจารณาแล้วพบว่าผู้กระทำผิดยังคงรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง กรณีนี้ยังต้องรับโทษอยู่นะครับ เพียงแต่ศาลอาจลดโทษลงได้

หากผู้ป่วยที่สร้างความเดือดร้อนสร้างเรื่องไว้ ยังคงต้องรับผิดหรือไม่? ตรงนี้ก็มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อศาลเห็นว่าการปล่อยตัวผู้มีจิตผิดปกติออกไป แล้วจะไม่ปลอดภัยแก่ผู้อื่น ศาลสามารถส่งไปคุมไว้ในสถานพยาบาลนานเท่าไรก็ได้จนกว่าจะเพิกถอนคำสั่ง เพราะเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่าผู้ป่วยนั้นบ้าจริงหรือแค่แกล้งบ้า โดยศาลต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างนิติจิตเวชหรือจิตแพทย์ เพื่อการตรวจและพิสูจน์ที่แม่นยำ แล้วศาลก็จะเป็นฝ่ายพิพากษา

ความเครียดมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา อย่าปล่อยให้ความเครียดมีอิทธิพลทางลบต่อชีวิตต่อเนื่องยาวนานแม้ปัจจัยความเครียดยังคงอยู่ แต่เราสามารถพาตัวเองออกจากความเครียดได้ โดยการจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆที่เราทำได้ อย่าใช้ความเครียดเป็นข้ออ้างในการสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น “แม้ว่าเราเปลี่ยนสาเหตุความเครียดไม่ได้ แต่เราลดความเครียดได้”

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 65 / กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข / สำนักงานกิจการยุติธรรม / healthserv.net /

คลิปแนะนำอีจัน
โอเค ครับเชฟ!