“พระธาตุพนม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกว่า 2,500 ปี

ย้อนอดีต พระธาตุพนม ดินแดนศักดิ์สิทธิ์มหาศรัทธาทางพุทธศาสนาสู่การสร้างพระธาตุพนม

ตำนาน ความเชื่อ ความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่นำมาสู่การสร้างพระธาตุพนม ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาอันยาวนาน

อีจัน ได้มาเยือนดินแดนแห่งนี้ ช่างสวยงามตระการตาจนต้องขอหยิบยกประวัติความเป็นมาของพระธาตุพนมมาบอกเล่ากัน

ตำนานพระธาตุพนมยุคปฐมเหตุ

ในอุรังคนิทานตำนานพระธาตุพนมได้กล่าวถึงพระพุทธประวัติช่วงปัจฉิมโพธิกาลว่า …

ครั้งสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จเหาะมายังดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ทรงบรรทมที่ภูกำพร้า 1 ราตรีโดยมีวิษณุกรรมเทพบุตรคอยอุปัฏฐากรับใช้

รุ่งเช้าก็เสด็จไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูรและทรงพักระหว่างทางใต้ต้นรัง (พระธาตุอิงฮัง เมืองสุวรรณเขต ประเทศลาว) แล้วเสด็จกลับมาเสวยที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ ทรงตรัสถามพระอินทร์ที่เสด็จมาเข้าเฝ้าขณะนั้น ถึงสาเหตุที่พระองค์เสด็จมาค้างแรม ณ สถานที่แห่งนี้ พระอินทร์ได้ทูลตอบว่า เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมาแล้วถึง 3 พระองค์ เมื่อสดับคำตรัสตอบจากพระอินทร์แล้วก็เสด็จไปยังหนองหานหลวง แล้วเสด็จกลับพระเชตะวัน

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วจะถวายพระเพลิงไฟก็ไม่ลุกเผาไหม้ ต่อเมื่อพระมหากัสสปเถระมาถึงและได้นำหมู่สงฆ์ ทำทักษิณาวัฎฎ์ 3 รอบ เสร็จแล้วก็ได้อธิษฐานว่า “พระบรมธาตุองค์ใดที่จะให้ข้าพระบาทนำประดิษฐาน ณ ภูกำพร้าขอพระบรมธาตุนั้นจงเสด็จมาสถิตอยู่บนฝ่ามือของข้าพระบาท ณ บัดนี้เถิด” สิ้นคำอธิษฐานพระอุรังคบรมธาตุก็เสด็จมาประดิษฐานอยู่บนฝ่ามือขวา แล้วเตโชธาตุก็ลุกเผาไหม้พระสรีระของพระบรมศาสดาอย่างอัศจรรย์ โดยไม่มีใครจุด

ต่อมาพระเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูปก็ได้นำพระอุรังคบรมธาตุเสด็จโดยทางอากาศเหาะลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็ก อ.พรรณานิคม เมืองสกลนคร) เพื่อแจ้งข่าวการเสด็จของพระอุรังคบรมธาตุต่อพญาสุวรรณภิงคาร ผู้ครองเมืองหนองหาน เมื่อพญาอีก 4 เมือง อันประกอบด้วย พญาอินทปัตรนครแห่งศรีโคตรบูร (ตั้งอยู่ใต้ลำน้ำเซบั้งไฟ ในประเทศลาว) พญาจุลมณีพรหมทัตแห่งเมืองจุลมณี (หลวงพระบาง) พญาอินทปัตรนครแห่งเมืองอินทปัตถ์ (ประเทศกัมพูชา) และพญาคำแดง (ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) ทราบข่าวถึงการเสด็จมาของพระบรมสารีริกธาตุที่จะประดิษฐาน ณ ภูกำพร้าต่างก็ทรงโสมนัสปิติยินดีได้นำกำลังพลมาต้อนรับ และได้ร่วมสร้างองค์พระธาตุพนม เพื่อประดิษฐานพระอุรังคบรมธาตุจนถึงทุกวันนี้ ล่วงเลยมากว่า 2,550 ปี

ตำนานพระธาตุพนม กล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมเริ่มสร้างในปีพุทธศักราช 8 ในยุคสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังเจริญรุ่งเรือง โดยท้าวพญาทั้ง 5 เป็นผู้ก่อสร้างพระธาตุในแต่ละทิศ โดยใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 2 วา สูง 2 วา (วาของพระมหากัสสปะเถระ) ข้างในเป็นโพรงมีประตู 4 ด้าน แล้วเผาให้สุก เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระอุรังคบรมธาตุเข้าประดิษฐานภายใน

กาลเวลาล่วงเลยถึงคราวบูรณะปรับปรุง

พระธาตุพนมบรมเจดีย์ที่มีประวัติมาอย่างยาวนานนับได้ 2,500 กว่าปี มีการปฏิสังขรณ์ต่อเติมครั้งใหญ่ ๆ จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน คือ

1.ราวปีพุทธศักราช 500 ได้มีการปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระอรหันต์ 5 รูป ซึ่งอดีตก็คือพญาทั้ง 5 พระอรหันต์ที่ได้ร่วมก่อสร้างพระธาตุพนมร่วมกับพระมหากัสสปเถระ ภพชาติสุดท้ายก็ได้มาร่วมปฏิสังขรณ์บูรณะให้สูงจากเดิมที่สูงเพียง 2 วา โดยมีพญามิตตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนครเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และฤาษีอีก 2 ตนซึ่งได้นำศิลาจากยอดภูเพ็กมาตั้งประดิษฐานไว้บนชั้นที่ 2 ขององค์พระธาตุ

2.ราวปีพุทธศักราช 2233-2235 ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ของลาว พระธาตุพนม หรือเรียกตามแผ่นทองที่จารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครเวียงจันทน์ ซึ่งได้มาบูรณะองค์พระธาตุในราวปีพุทธศักราช 2236-2245 ว่า “ธาตุปะนม” เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคบรมธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสัณฐานรูปทรงสีเหลี่ยมประกอบด้วยศิลปะงามวิจิตรประณีตสูงจากระดับพื้นดิน 43 เมตร ฉัตรทองคำสูง 4 เมตร รวมเป็น 47 เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเขตกั้นแดนระหว่างลาวกับไทยประมาณ 500 เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ 800 กิโลเมตร

3.ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พุทธศักราช 2483-2484 ได้มีการซ่อมแซมและต่อเติมองค์พระธาตุพนมสูงขึ้นอีก 10 เมตร โดยการนำของอธิบดีกรมศิลปากร ขณะนั้นพร้อมด้วยคณะนักเรียนและนายช่าง

พระธาตุพนมพังทลาย

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2518 เวลา 19.38 น. ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ จุลศักราช 1337 เป็นวันที่ฝนตกพรำต่อเนื่องหลายวัน อีกทั้งยังมีพายุโหมกระหน่ำทำให้องค์พระธาตุพระพนมอันเป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอายุกว่า 2,500 ปี พังล้มลงเพราะความผุกร่อนของฐานที่มีความสูง 8 เมตร ได้ยังความสลดสังเวชใจแก่พุทธศาสนิกชน

กลับคืนตั้งตระหง่านสูงเสียดฟ้า

ด้วยพลังแรงศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุ ประชาชนได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2522 ลักษณะพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง งดงามสง่าเหมือนองค์เดิม มีขนาดฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร และสูง 53.60 เมตร

22 มีนาคม 2522 ทางรัฐบาลได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธียกฉัตรยอดองค์พระธาตุพนม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ(พระอุรังคธาตุ) ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกัน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ศรัทธา ศักดิ์สิทธิ์ พระธาตุพนม

ตามตำนานที่กล่าวข้างต้นว่า องค์พระธาตุพนม สร้างมานานกว่า 2,500 ปี โดยพระมหากัสสปเถระ พุทธสาวกองค์สำคัญ และพระอรหันต์ 500 องค์ ร่วมกับท้าวพญาทั้ง 5 นคร คือ พญาสุวรรณภิงคาร พญาคำแดง พญาอินทปัตถนคร พญาจุลณีพรหมทัต และพญานันทเสน ได้ร่วมกันก่อสร้างองค์พระบรมธาตุ แล้วนำพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้ภายใน ที่ ภูกำพร้า ถือได้ว่าพระธาตุพนม เป็นดินแดนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันดับต้นๆ ของเมืองไทย เพราะสถานที่ตั้งพระธาตุพนม เป็นสถานที่อันเกิดจากศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา อีกทั้งพระธาตุองค์นี้ยังมีพญานาคทั้งเจ็ดตนคอยให้การปกปักรักษา เทพพญานาคถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลในเรื่องของการมีโชคลาภ แถมยังคุ้มครองคนที่ปฏิบัติธรรม ให้มีความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสอันดีในการมากราบไหว้ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล

ใครมีโอกาสเดินทางมา จ.นครพนม ห้ามพลาดมากราบสักการะพระธาตุพนมเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตนะคะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : www.silpa-mag.com

คลิปแนะนำอีจัน
ถูกหวย 60 ล้าน ช็อกจนไม่กล้ารับสาย!