
ท้าวเวสวัณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ?

ท้าวเวสสุวรรณ ในพระไตรปิฎกเป็นหนึ่งในสี่จตุโลกบาลหรือจาตุมหาราช คือหัวหน้าเทพในระดับ “มหาราช” ชั้นจาตุมหาราชิกาทั้ง 4 องค์ ที่มีหน้าที่รักษาทิศทั้ง 4 และควบคุมกำลังพลเทพ อสูร คนธรรพ์ นาค (ในภาษาจีนเรียกว่าแปดเทพอสูรมังกรฟ้า คืออมนุษย์ทั้ง 8 เหล่าตามคติพุทธศาสนา)
ท้าวเวสวัณ ประจำรักษาโลกด้านทิศเหนือ ทำหน้าที่ปกครองยักษ์ หากใครเคยได้ยินพิธีกรรมที่เรียกว่า “สวดภาณยักษ์” มาก่อน ขอให้ทราบว่าผู้ที่กราบทูลพระพุทธเจ้าให้สวดคือท้าวเวสวัณนั่นเอง โดยกราบทูลว่ายักษ์บางเหล่าก็เป็นยักษ์พาล ไม่พอใจที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รักษาศีล บางเหล่าก็เป็นยักษ์ดีมีคุณธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พวกยักษ์พาลนี้ท้าวเวสวัณท่านเกรงว่าจะมาก่อกวนผู้นับถือพุทธศาสนา
ดังนั้น ท้าวเวสวัณจึงกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะเพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” “การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ” ที่ว่านี้คือ “อาฏานาฏิยสูตร” นั่นเองซึ่งท้าวเวสวัณถวายแก่พระพุทธเจ้าเพื่อให้พุทธบริษัทได้เรียนไว้ ไว้สวดสาธยาย หากพบกับอมนุษย์ที่เป็นลูกน้องท้าวเวสสวัณคือพวกยักษ์ที่เป็นอันธพาลจะได้ใช้พระสูตรนี้สวดปราบ จึงเรียกกันว่า “ภาณยักษ์”
โดยคำว่า “ภาณ” หมายถึง หมวดหมู่หนึ่ง คือหมวดหมู่การเรียบเรียงบทสวด หมวดทั้งหมดเรียกว่า “ภาณวาร” คือกลุ่มบทสวดมนต์หรือพระสูตรที่เรียบเรียงไว้สวดในงานพระราชพิธีหรืองานมงคลพิธีต่างๆถ้าตามพระไตรปิฎกนี้จะเห็นว่าท้าวเวสวัณมีหน้าที่ควบคุมพวกยักษ์ ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี บางครั้งพวกอันธพาลยักษ์ไปทำเกเรกับพุทธศาสนารอดหูรอดตาท่าน ท่านจึงสอน “ภาณยักษ์” เอาไว้ปราบพวกมัน โดยอ้างชื่อของเจ้านายยักษ์คือท้าวเวสวัณ หากได้ยินชื่อหัวหน้าแล้วยังเกเรไม่เลิกก็จะได้เห็นดี
แต่ว่ากันตามหลักศาสนวิทยา (การศึกษาที่มาที่ไปและความเชื่อทางศาสนา) ท้าวเวสวัณในศาสนาพุทธ (ในพุทธศาสนามหายานเรียกว่าไวศฺรวณหรือพระไพศรพณ์) เป็นองค์เดียวกับเทพกุเวร/กุเพรในศาสนาพระเวทคือศานาฮินดูในปัจจุบัน

นอกจากนี้ท้าวเวสสุวรรณยังมีหลายชื่อ ทั้ง เวสสวัณ ไวศฺรวณ ไพศรพณ์ กุเวร กุเพร บิฌะมงเท็ง ทะมงเท็ง ฯลฯ แล้วแต่ความเชื่อแต่ละประเทศแต่ละความศรัทธา ตั้งแต่เป็นเจ้าแห่งผี เจ้าแห่งยักษ์ เจ้าแห่งโจร เจ้าแห่งพ่อค้า เจ้าแห่งโภคทรัพย์ เจ้าแห่งสงคราม ฯลฯ ดังนั้น ผู้ที่จะบูชาเชื่อถือท่านในฐานะไหนนั้น ก็สุดแล้วแต่ความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อองค์เทพ สำหรับชาวพุทธที่ใฝ่ธรรมะนั้นแม้ไม่แสวงหาคุณจากท้าวเวสสุวรรณในด้านโชคลาภ ก็สามารถระลึกได้ว่าท่านเป็น “ไวศฺรวณ”ผู้สดับฟังมาก หมายความว่าท่านเป็นผู้ฟังธรรมมาก เพราะคอยอารักขาพระพุทธเจ้าในยามทรงแสดงธรรม

ลักษณะของท้าวเวสสุวรรณ
เป็นยักษ์สามขา(เนื่องจากถือไม้กระบองยาว อยู่หว่างขา) มีสี่กรพระวรกายสีขาว สวมอาภรณ์งดงามมีมงกุฎเป็นน้ำเต้าทรงอยู่พระเศียร แต่มีรูปกายพิการ ร่างกายกำยำดูแข็งแรง รูปร่างสมส่วน มือขวาถือกระบอกยาวมียักษ์เป็นบริวาร ยักษ์จะเป็นพวกกายทิพย์พวกหนึ่งมีสันดานที่แตกต่างกัน บางตนมีสันดานดีประกอบด้วยศีลธรรม บางตนมีสันดานร้ายจิตใจเต็มไปด้วยโทสะโมหะ
บางตำนานท้าวเวสสุวรรณยังมีกายสีเขียว สัณฐานสูง 2 คาวุต ประมาณ 200 เส้น มีอาวุธเป็นกระบอง มีพาหนะ ช้าง ม้า รถ ปราสาท อาภรณ์มงกุฎประดับรูปนาค ดำรงอิสริยยศเป็นเจ้าแห่งยักษ์ มีบริวารแสนโกฏิ ถือโล่แก้วประพาฬ หอกทอง ท้าวเวสสุวรรณเป็นเทพอสูรที่มีอำนาจปกปักรักษา มีบทบาทปกครองภูตผีปิศาจที่เกเร มีอำนาจทางด้านการเงิน เพราะเป็นผู้รักษาขุมทรัพย์ของแผ่นดิน เป็นมหาเทพแห่งความมั่งคั่ง มีอำนาจในการประทานทรัพย์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติดี ผู้ใดหวังความเจริญในลาภยศทรัพย์สินเงินทองอำนาจวาสนาให้บูชารูป ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร

ท้าวเวสสุวรรณ มีทั้งหมด 4 ภาค คือ
ท้าวเวสสุวรรณ พรหมาสูติเทพ ชั้นพรหม มีรูปกายสีทอง ภูษาสีทอง
ท้าวเวสสุวรรณ เทพบุตรสูติเทพ ชั้นดาวดึงค์ มีรูปกายสีแดง ภูษาสีแดง
ท้าวเวสสุวรรณ จาตุมหาราชิกา มีรูปกายสีเขียว ภูษาสีเขียว
ท้าวเวสสุวรรณ ชั้นมนุษย์ มีรูปกายสีขาว ภูษาสีขาว

การบูชาท้าวเวสสุวรรณ
สำหรับ ชีวิตติดขัด เสริม การเงิน การงานโชคลาภ ความเจริญรุ่งเรื่องในหน้าที่การงาน เเละกันภัย ป้องกันวิญญาณร้าย แนะนำจุดธูปกลางแจ้งหันหน้าทางทิศเหนือ หรือเข้าห้อง จุดธูป 9 ดอก ดอกกุหลาบ 9 ดอก พระสมาทานศีล 5 สวดชินบัญชร ตามด้วยบทบูชาท้าวเวสสุวรรณ
บทสวดบูชาท้าวเวสสุวรรณ
นะโม 3 จบ อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต นะโมพุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมะหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวส สะ พุ สะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโมพุ ทธายะ