ตำรวจ ปคบ. รวบผัว-เมีย ผลิตไส้กรอกมรณะ และอาหารปลอม

ตำรวจ ปคบ. รวบผัว-เมีย ผลิตไส้กรอกมรณะ และอาหารปลอม หลังเด็กกินแล้วป่วย 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ตำรวจ ปคบ. รวบผัว-เมีย ผลิตไส้กรอกมรณะ และอาหารปลอม

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจับกุมตัว นายสินาฤทธิ์ อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดชลบุรีที่ จ.201/2565 ลงวันที่ 20 เมษายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม, ร่วมกันผลิตเพื่อจำหนายอาหารโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และร่วมกันประกอบกิจการผลิตอาหารโดยสุขลักษณะของสถานที่ผลิตอาหารไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด”

พฤติการณ์กล่าว คือ ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรากฎข่าวกรณีพบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กจำนวนหลายรายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากการรับประทานไส้กรอกและเกิดภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย)

ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 Mon News Agency สื่อท้องถิ่นในรัฐมอญรายงานว่า เด็กในเมืองพญาตองซู เขตเมืองจ่ออินเซกจี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ถูกนำส่งโรงพยาบาลรวมทั้งหมด 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย หลังกินไส้กรอกที่ผลิตในประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ จึงได้ร่วมกันทำการสืบสวน จนทราบแหล่งจำหน่าย และสืบสวนขยายผลจนทราบถึงแหล่งผลิต จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายค้น เข้าทำการตรวจค้น บ้านหลังหนึ่ง ในหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

จากการตรวจค้นพบว่า สถานที่ดังกล่าวเปิดเป็นสถานที่ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ โดยไม่ได้รับอนุญาต และรวมถึงผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ยังมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีเลขสารบบอาหาร

เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้ทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องจักร จำนวน 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท โดยจากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า นายสินาฤทธิ์ และ น.ส.รักทวี ซึ่งเป็นสามี-ภรรยา เป็นผู้ร่วมกันผลิตอาหารที่ผิดกฎหมายดังกล่าว

ต่อมาได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ จำนวน 4 รายการ ไปทำการตรวจสอบเพื่อหาสารปนเปื้อน ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีใช้วัตถุเจือปนอาหาร กรดเบนโซอิก ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารสุข ไม่กำหนดปริมาณการใช้ จึงต้องมาขอความเห็นชอบการใช้ ซึ่งไม่ได้ขอความเห็นชอบแต่อย่างใด

ดังนั้นผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 รายการ จึงเข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท อีกทั้งยังพบว่าผลิตภัณฑ์ “หมูยอ แม่จันตรี สูตรโบราณ” และ “หมูยออุบล ดั้งเดิม Premium” มีการตรวจพบยีนจำเพาะของไก่ แต่ไม่พบยีนจำเพาะของหมู จึงเข้าข่ายเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง

จัดเป็นอาหารปลอม ตามมาตรา 27(4) ฝ่าฝืนมาตรา 25(2) มีโทษตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาท จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสอง ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ อย. และ สสจ. ร่วมกับ บก.ปคบ.ได้ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังทั่วประเทศ และมีการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ที่มีความเสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ไปแล้ว 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างการรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้มีการดำเนินคดีกรณีไส้กรอกไม่แสดงฉลาก และกับโรงงานที่ลักลอบผลิตที่จังหวัดชลบุรี อยุธยา และนครปฐม

หากผลตรวจวิเคราะห์เกิดมาตรฐานก็จะดำเนินการในส่วนกฎหมายต่อไป กรณีไส้กรอกมรณะนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บก.ปคบ. อย. และสสจ.ไม่นิ่งนอนใจได้ประสาน ส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงและก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตบุตรหลานให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร หากพบก็จะขยายผลดำเนินคดีให้ถึงต้นตออย่างเช่นกรณีใส้กรอกมรณะ

คลิปอีจันแนะนำ
เปิดเบาะแสสำคัญ #คดีปริศนาหายยกครัว #สุโขทัย