นายก อบจ.อ่างทอง แจง เสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โปร่งใส ไม่หมกเม็ด

นายก อบจ.อ่างทอง แจง เสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จัดจ้างติดตั้งถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่หมกเม็ด

ภายหลังเพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ ระบุว่า “ส่อ..ล็อคสเปค เสาไฟโซล่าเซลล์ อบจ.อ่างทอง 143 ล้าน ยังมีกันให้เห็นอีกเยอะสำหรับพิรุธจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์ ล่าสุด..เป็นของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ระหว่างปีงบประมาณ 2562-2563 ชื่อโครงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งหมด 19 โครงการ คู่สัญญาเจ้าเดียวเจ้าเดิม กวาดเรียบ… ติดตั้งไปทั้งหมด 1,707 ต้น รวม 143,240,300 บาท เฉลี่ยเสาไฟต้นละ 83,913 บาท

“ซึ่งรอบนี้เป็นเสาไฟไร้ประติมากรรมใดๆ แต่ระบุใน TOR คุณลักษณะเฉพาะไว้น่าสนใจตรงที่เสาเข็มเหล็กชนิดเกลียวต้นเดียว เส้นผ่าศูนย์กลางด้านบนไม่น้อยกว่า 30 ซม. ความยาวไม่น้อยกว่า 4 เมตร รวมทั้งเสาไฟที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 8 เมตร ชนิดท่อนเดียวไม่มีรอยเชื่อมต่อ ซึ่งสเปคดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะบางบริษัทเท่านั้น.. ซึ่งการกำหนดคุณลักษณะดังกล่าวนี้ อาจเป็นสาเหตุให้มีเพียงบริษัทเดียวที่ตรงคุณสมบัติก็เป็นได้.. และได้รับงานทั้งหมด ทั้งนี้ต้องฝากไปยังหน่วยงานตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมด้วย”

ทั้งนี้นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า เสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้ดำเนินงานโครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2563 เนื่องจากทาง อบจ.อ่างทอง ไม่ได้รับการงด หรือยกเว้นค่ากระแสไฟฟ้า จึงไม่สามารถใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ อีกทั้งยังต้องรับภาระค่าไฟ จึงต้องทำโครงการไฟฟ้าส่องสว่างให้กับพี่น้องประชาชนเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในการทำโครงการเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทาง อบจ.อ่างทอง ได้ตั้งงบประมาณไว้ต้นละประมาณ 83,000 บาท

ส่วนเหตุผลที่ต้องติดตั้งเสาเข็มลึก 4 เมตร เนื่องจากถนนของ อบจ.อ่างทอง อยู่ติดกับคลองและทุ่งนาของประชาชน จึงต้องมีความแข็งแรง มั่นคง ถ้าต้องใช้เสาไฟฟ้าที่มีความลึก 2 เมตร อาจจะทำให้เสาไฟฟ้าไม่แข็งแรง จึงต้องกำหนดรูปแบบให้เข็มมีความลึก 4 เมตร เพื่อความแข็งแรงมั่นคง

ในส่วนของตัวเสาไฟฟ้าที่มีความสูง 8 เมตร แบบไม่มีรอยต่อ เนื่องจากด้านบนเสาไฟฟ้าจะถูกติดตั้งโคมไฟ แผงโซล่าเซลล์ และแบตเตอรี่ ซึ่งมีน้ำหนัก หากเกิดลมพายุพัดเสาไฟฟ้าแบบมีรอยต่อ ก็อาจจะหักโค่นมาทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายกับพี่น้องประชาชน ที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมาได้ และที่ต้องมีความสูงถึง 8 เมตร เพราะถนนในจังหวัดอ่างทอง มีรถทางการเกษตรใช้สัญจร อาทิ รถไถนา รถเกี่ยวข้าวที่ต้องขึ้นเทรลเลอร์ในการเดินทาง รถบรรทุกข้าว รถบรรทุกฟางที่มีความสูง ถ้าเป็นเสาไฟฟ้าที่มีความสูง 6 เมตร ก็อาจจะไปเกี่ยวเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายได้

ขณะที่เรื่องราคารับเหมาก่อสร้างโครงการ อบจ.อ่างทอง ใช้การประมูลงานด้วยวิธี บรีดดิ้ง ทำการประกาศ TOR มีคณะกรรมการอย่างถูกต้อง กำหนดราคากลาง กำหนดรูปแบบของงานต่างๆ ซึ่งกรมบัญชีกลาง เคยอนุมัติงบประมาณให้กับทาง อบจ.อ่างทอง ในราคาดังกล่าวมาแล้ว สตง. และ ปปท. ก็เคยเข้ามาทำการตรวจสอบแล้ว

ทาง อบจ.อ่างทอง จึงมีความมั่นใจว่าโครงการต่างๆ ที่ทำการจัดจ้าง เป็นสิ่งที่ทำการบรีดดิ้ง อย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใส ไม่หมกเม็ดอย่างแน่นอน