ระวังเข้ม! หวั่น ลัมปี สกิน ระบาดใน ควายป่า ฝูงสุดท้ายที่ ห้วยขาแข้ง

หวั่น ลัมปี สกิน ระบาดใน ควายป่า ฝูงสุดท้ายของ ห้วยขาแข้ง – กรมอุทยานฯ จัดมาตรการเฝ้าระวังเข้ม!

การระบาดของ โรคลัมปี สกิน ที่พบใน วัว ควาย วิกฤติหนักในหลายจังหวัดแถบภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ส่งผลให้มีสัตว์ป่วยแล้วหลายตัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องสั่งซื้อวัคซีนเพื่อระดมฉีดให้เร็วที่สุดในสัตว์ที่ไม่ป่วย บริเวณพื้นที่รอบๆ จุดเกิดโรค เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างขึ้น

ล่าสุด (20 ก.ค. 64) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง นอกจากจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างหลากหลายแล้ว หนึ่งในนั้นก็มีสัตว์ป่าสำคัญอาศัยอยู่ด้วย นั่นก็คือ ควายป่า ซึ่งต้องให้ความสำคัญ และเฝ้าระวัง โรคลัมปี สกิน เป็นพิเศษ

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์และการเฝ้าระวัง โรคลัมปี สกิน ว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เฝ้าระวังมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่ออกประสานงานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ ไม่นำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใกล้แนวเขตอย่างเด็ดขาด รวมถึงได้จัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ลาดตระเวนเฝ้าระวัง จำนวน 20 นาย โดยเฝ้าระวังเป็นจุด ๆ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ และผลักดันไม่ให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างห้างนั่งดูสัตว์ชั่วคราว บริเวณแนวเขตของพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้นั่งเฝ้าสัตว์ ไม่ให้สัตว์ป่าออกนอกป่าอนุรักษ์ และไม่ให้สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านเข้าไปในป่า ซึ่งที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนนำสัตว์มาเลี้ยง 1 ราย

สำหรับจุดที่พบสัตว์เลี้ยงในจังหวัดอุทัยธานีที่ตาย นายธนิตย์ เผยว่า อยู่ห่างจากแนวเขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง ประมาณ 15 – 20 กิโลเมตร ซึ่งโรคนี้สาเหตุหลักติดต่อทางแมลงดูดเลือด ดังนั้นในทางปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยเฉพาะกับสัตว์ป่า เป็นเรื่องที่ยาก

แต่จากนี้ไป จะให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำส้มควันไม้ที่ได้รับมาจากวัดท่าซุงรอบ ๆ บริเวณ และปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดต่อไป

สำหรับควายป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้เผยแพร่ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้ง ว่า มีลักษณะโดยทั่วไป คล้ายคลึงกับ ควายบ้าน เพราะสืบมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่จะแตกต่างในเรื่องของลักษณะ พฤติกรรม และนิสัย

ลำตัวของควายป่า บึกบึน แข็งแรง ใหญ่โตกว่าควายบ้าน น้ำหนักควายป่า จะอยู่ที่ 800 – 1,200 กก. ขณะที่ควายบ้าน มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 500 กก. ควายป่า มีเขาโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ ยาวได้ถึง 150-180 ซม. ซึ่งควายจะมีเขาที่สั้นกว่า

ส่วนสีผิวของควายป่า มีสีเทาหรือน้ำตาลดำ ช่วงอกมีขนสีขาว รูปตัว V ใส่ถุงเท้าขาวหม่น ๆ ทั้ง 4 ข้าง แต่ควายบ้าน มีผิวสีเทาจนถึงดำ

ควายป่า มีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ไม่กลัวคน แม้จะตัวใหญ่แต่กลับปราดเปรียว ว่องไว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตัวผู้ชอบฉายเดี่ยวแต่ก็กลับมารวมฝูงในช่วงผสมพันธุ์

ควายป่าในผืนป่าไทย มีรายงานพบเพียงแห่งเดียว คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง แถบ ๆ ริมลำห้วยขาแข้ง ทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่ราว ๆ 50 ตัว จึงเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของควายป่าไปผสมพันธุ์กับควายบ้าน บางครั้งอาจติดโรคมาจากควายบ้าน ทำให้เกิดโรคระบาด ล้มตายไปตาม ๆ กัน

สำหรับ ควายป่า ถือเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)

ข้อมูลจาก : BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้ง โดย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า