วชิรพยาบาล ผ่าตัดไหล่ ศอก ข้อเท้าเทียม เพื่อผู้ป่วยยากไร้ ฟรี!

วชิรพยาบาล เปิดโครงการผ่าตัดไหล่ ศอก ข้อเท้าเทียม เพื่อผู้ป่วยยากไร้ ถวายเป็นพระราชกุศล กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

29 ต.ค. 64 มีรายงานว่า คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และสถานีข่าวโทรทัศน์ TNN ได้จัดทำโครงการ ผ่าตัดข้อไหล่ ข้อศอก และข้อเท้าเทียม เพื่อผู้ป่วยยากไร้ 66 ข้อ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา

รวมถึงยังเป็นการ ช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีปัญหาข้อไหล่ ข้อศอก และข้อเท้าเสื่อมที่มีปัญหาซับซ้อนให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีระดับสูง จากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 64 จนถึง 2 เม.ย. 65 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ หรือจนกว่าจะครบจำนวนผู้ป่วยตามโครงการ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะเสื่อมของข้อไหล่ ข้อศอกและข้อเท้า ภาวะกระดูกข้อไหล่ หรือข้อศอกหักอย่างซับซ้อน หรือมีภาวะเนื้องอกกระดูก ที่บริเวณข้อไหล่หรือข้อศอก เมื่อโรคอยู่ในระยะขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดบริเวณข้อต่างๆ อย่างรุนแรงจนไม่สามารถ ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ โดยกลุ่มโรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนมากกว่า 12 ล้านคน ของจำนวนประชากรทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกําลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

โครงการนี้จึงสามารถทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การรักษาโรคข้อเสื่อมนั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด เช่น การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะยังมีอาการปวด ไม่สามารถใช้งานข้อได้ตามปกติและจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล ก็คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

แต่สิทธิ์การรักษาพยาบาลต่างๆ ในระบบของประเทศไทย ได้แก่ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด

ผู้ป่วยจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินเป็นหลักแสนบาท ทำให้ผู้ป่วยหลายรายที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ไม่สามารถเข้าทำการผ่าตัด เพราะไม่สามารถชำระเงินส่วนเกินได้

สำหรับคุณสมบัติผู้ป่วยที่จะรับพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่

1. ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อไหล่เสื่อม ทั้งเสื่อมแบบปฐมภูมิ และเสื่อมจากเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดเป็นเวลานาน ข้อไหล่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรงจนกระทั่งไม่สามารถรักษาด้วยการยึดตรึงกระดูกด้วยวิธีปกติได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะเนื้องอกกระดูกบริเวณข้อไหล่ รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อศอกและข้อเท้าเสื่อม ในรูปแบบต่างๆ ด้วย

2. เป็นผู้ป่วยยากไร้ตามที่โครงการกำหนด เช่น เป็นผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยกว่า 25,000 บาท ต่อเดือน

3. ผู้ป่วยยินยอมที่จะทำตามข้อตกลงและข้อปฏิบัติของโครงการ

คลิปอีจัน แนะนำ