สทนช. ผลักดัน เทคโนโลยี บำบัดน้ำเสีย กลับมาใช้ใหม่ ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ผลักดัน เทคโนโลยี บำบัดน้ำเสีย กลับมาใช้ใหม่ ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล นำร่อง 5 หน่วยงานของไทย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยถึงความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ในการจัดการประชุมออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “Wastewater Treatment Solutions from Hungry” ให้แก่ 5 หน่วยงานของประเทศไทย ประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาค กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเมืองพัทยา เพื่อเป็นการแนะนำหน่วยงาน

รวมถึงผลักดันนวัตกรรมความเชี่ยวชาญของฮังการีในการบริหารจัดการบำบัดน้ำเสีย (wastewater management) และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

โดยมีการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การดำเนินการอย่างสมบูรณ์ของโรงบำบัดน้ำดื่ม การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย การผลิตน้ำแบบเคลื่อนที่ในตู้คอนเทนเนอร์ และระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก โรงแยกเกลือออกจากเยื่อกรอง และเทคโนโลยีรีไซเคิลสำหรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการบำบัดน้ำเสียจากภาคการเกษตร เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

โดยการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการติดตามความก้าวหน้าตามเอ็มโอยู

ซึ่งเป็นการหารือแนวทางที่จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งสองฝ่ายได้จัดการเจรจาจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ โดยการประสานงานในรายละเอียด กระบวนการ กรอบแนวทางที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีระหว่างกันต่อไปในอนาคต ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ไทยและฮังการีได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เอ็มโอยู) ที่ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงมหาดไทยฮังการี ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง การจัดการน้ำเสีย และการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลที่ฮังการีมีความเชี่ยวชาญ