เจาะลึกชีวิตกู้ภัย กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ง่าย

เปิดเส้นทางชีวิต กว่าจะมาเป็นกู้ภัยทางน้ำ ทั้งคำพูด คำด่า แต่เลือกแล้วก็ต้องยอมรับ เพราะความเป็นกู้ภัยมันอยู่ในสายเลือด

หลายคนคงคุ้นชินกับ เจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย ตามมูลนิธิต่างๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยนั้น ก็มีแบ่งการทำงาน ทั้งในน้ำและบนบก ไม่ต่างกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ

เช่นเหตุการณ์นี้ เรือล่มที่หน้าวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ ต้องดำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ลึกถึง 20 เมตร ทั้งกระแสที่แรง บวกกับบริเวณนั้นเป็นจุดที่ แม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำป่าสักไหลมารวมกัน ทำให้เกิดน้ำวน อีกทั้งน้ำในแม่น้ำนั้นยังขุ่นจนมองไม่เห็นอะไรเลย กว่าจะเจอเรือที่ล่มนั้น พี่ๆกู้ภัยต้องดำน้ำลงไปใช้มือสัมผัสจนกว่าจะรู้ตำแหน่งของเรือ ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานแค่ไหน กว่าจะมีความชำนาญ จนสามารถเผชิญภารกิจสุดโหดครั้งนี้ได้

พี่ยัน สายัณห์ แหมหงส์ หน่วยกู้ภัยทางน้ำทีมเจ้าพระยา สมาคมกู้ภัยอยุธยารวมใจ เป็นกู้ภัยมากว่า 20 ปี พี่ยัน เปิดใจกับทีมข่าวอีจันถึงเหตุผลที่มาเป็นกู้ภัยทางน้ำ ว่า ตอนเด็กๆ 20 ปีที่แล้ว พ่อเกิดอุบัติเหตุที่ จ.ชัยภูมิ สมัยนั้นค่ารถมันแพงมากๆ แต่กู้ภัยที่มาส่งพ่อ คิดค่าใช้จ่ายแค่ 2,000 บาท นับตั้งแต่นั้นมาก็เลยทำให้พี่ยันมีความตั้งใจว่า เรียนจบม.6 จะมาเป็นกู้ภัย เพราะใจอยากช่วยคนอื่นด้วย แต่ปัจจุบันพี่ยันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ อาชีพเสริมคือ กู้ภัย

กว่าจะมาเป็นกู้ภัยทางน้ำ ฝึกฝนนานแค่ไหน

พี่ยัน บอกว่า จริงๆทำได้ทุกทางแต่การทำงานทางน้ำ มันคือความชอบส่วนตัว สนุกด้วย การฝึกฝนที่นี่จะระบบแบบพี่สอนน้อง ตามเดิมว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว ก็มาปรับจูนเทคนิคนิดหน่อย แล้วทางรุ่นพี่จะส่งไปเรียนที่สถาบันสอนดำน้ำของกองทัพเรือ แล้วแต่ว่าติดต่อที่ไหนได้ นักเรียนต้องลงดำน้ำที่ทะเลทุกคน คือที่ แสมสาร เป็นเกาะของกองทัพเรือเอาไว้ฝึก ซึ่งมีความลึกประมาณ 27-28 เมตร

ความยากลำบากของการเป็นกู้ภัย

จริงๆเป็นเรื่องจิตใจมากกว่าเมื่อเราทำแบบนี้ต้องเจอเลยหนึ่ง เรื่องคำพูดของประชาชน กู้ภัยจะโดนว่าก่อนเสมอ จะรีบไปไหน ของหายอะไรก็ โทษกู้ภัยก่อน แต่เมื่อเราเลือกแล้วที่จะมาทำตรงนี้ มาช่วยคนอื่นเราก็ต้องยอมรับ เรื่องความลำบากทางด้านร่างกายจะไม่ค่อยมี หลักๆที่ลำบากก็เป็นเรื่องจิตใจ แต่เราต้องรับตรงนี้ให้ได้ คนหนึ่งร้อยคนเราจะมาให้เขาดีทุกคนไม่ได้ มันต้องมีหนึ่งคนที่ทำให้เราเจ็บบ้าง มันต้องมีครับ !

เป็นกู้ภัยมันเสี่ยง ครอบครัวยอมเหรอ ?

ครอบครัวเคยขอให้หยุด มีบ่นบ้าง เพราะมีโรคประจำตัวเยอะ ทุกคนเป็นห่วง แต่ผมหยุดไม่ได้ ผมอยากให้น้องๆที่ผมฝึกให้ ดำน้ำให้แข็งก่อน ให้ประสบการณ์เขาแน่นก่อนผมถึงจะวางมือ ครอบครัวก็เคยห้าม ผมเคยหยุดแล้ว แต่ได้แค่อาทิตย์เดียวเห็นคนเจ็บอยู่ตรงหน้าได้ยินเสียงวอแล้ว ไม่เอาแล้วไม่หยุดแล้ว มันอยู่ในสายเลือดไปแล้ว

ภารกิจกู้เรือล่มที่วัดพนัญเชิง ที่ทุกคนใจจดใจจ่อ

ลุ้นตามกันสุดขีด ในคืนที่ต้องดำน้ำลงไป ลึกถึง 20 เมตร

ภารกิจนี้ ปัญหาหลักๆ คือเรื่องกระแสน้ำมันแรง ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนเราจะประสานกันทุกภาคส่วนให้รวมเป็นหนึ่ง ทั้งจังหวัด ทั้งกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ เพราะตอนนี้อุปสรรคทางน้ำถ้านับเป็นเปอร์เซ็น อุปสรรคมัน 100% ครับ ทั้งกระแสน้ำที่แรงมาก เพราะตรงสามแยกวังน้ำวนนั้น เป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำป่าสักไหลมารวมกัน และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขุ่นมาก จะกลางวันกลางคืนดำลงไปก็มองไม่เห็น ต่อให้กลางวันมีแสงอาทิตย์ก็มองไม่เห็น แล้วน้ำในแม่น้ำก็จะขุ่นแบบนี้ตลอดทั้งปี

ภารกิจครั้งนี้ก็หนักแต่เป็นครั้งที่ 2 ครับ ครั้งแรกที่หนักที่สุดก็ได้รับการร้องขอให้ไปกู้เรือเหมือนกัน ทั้งเรื่องเวลากระแสน้ำ ครั้งนู้นหนักกว่าเพราะแม่น้ำนครหลวงจะมีลักษณะเป็นคอขวด กระแสน้ำจะบีบรวมมาพุ่งมาหาเรา น้ำจะไหลแรงกว่ามาก จริงๆหนักต่างกันในเรื่องภูมิประเทศของแม่น้ำมากกว่า ที่วัดพนัญเชิงนี้ เรือลำใหญ่กว่าแต่เป็นน้ำวน

ก่อนจะกลับ พี่ยัน ยังฝากคำพูดถึงคนที่อยากจะมาเป็นกู้ภัยทางน้ำอีกด้วยว่า

“ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจงานนี้มันเป็นงานอาสา ถ้าคุณไม่มีใจรักในการดำน้ำหรือไม่มีใจจะช่วยเหลือ ต่อให้คุณมาเรียนมามากแค่ไหน ถ้าคุณไม่มีใจจะช่วยเหลือคนอื่นยังไงมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ”

พี่ยัน สายัณห์ แหมหงส์

จะมีสักกี่คนที่คอยเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย การเป็นจิตอาสานั้นไม่เพียงแค่ทำด้วยความสนุก แต่ทำด้วยใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นจริงๆ ดังนั้นไม่ควรด้อยค่าหรือตัดสินการงานของคนอื่นเพียงเพราะแค่ คุณมองเห็นเพียงด้านเดียว

คลิปอีจันแนะนำ
ช่วยคนอื่น… เเต่ตัวเองไม่รอด