
ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ
ในสมัยก่อนเวลาเราเรียกสงคราม 3 มิติ เราจะนึกถึงยุทธวิธีแบบเก่า ที่เป็นที่มาของชื่อหน่วย SEAL (Sea – Air -Land) หรือการรบได้ทั้งบนบก ในน้ำ และทางอากาศ
แต่กับนิยามในสมัยนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งไทยกับกัมพูชาจะเปลี่ยนไป เราจะค่อยๆเล่าให้ฟัง
แต่ก่อนอื่นทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้แม้ไม่อยาก แต่ก็เรียกว่า “สงคราม” ได้เต็มปาก เพราะการปะทะครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี แม้แต่เหตุการณ์ปะทะเมื่อปี 2554 กรณีปราสาทพระวิหารก็ยังไม่รุนแรงเท่านี้
มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เต็มรูปแบบ มีการโจมตีในพื้นที่อธิปไตยของกันและกัน และที่สำคัญมี “พลเรือน” เสียชีวิต

มิติแรกที่เราจะพูดถึงคือ “มิติการรบชายแดน” มีการใช้อาวุธ เป็นการทำสงครามชิงพื้นที่ ใช้อาวุธทุกรูปแบบ ทั้งอาวุธบุคคล หรือ อาวุธหนัก จรวด ปืนใหญ่ รถถังมาครบ
มีการทำลายเป้าหมายทางการทหาร มีการยิงเป้าหมายพลเรือน เพื่อชิงความได้เปรียบของพื้นที่ มิติชายแดนเดือดทุกจุด ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ที่สำคัญมีคนตายเกิน 10 คน และเชื่อว่าหากเรื่องราวไม่ยุติ ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงความสูญเสียและคราบน้ำตา เพราะทุกคนที่เสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน ต้องเป็น พ่อ แม่ ลูก หรือญาติของใครบางคน ไม่นับความเสียหายทางธุรกิจชายแดนที่เรียกได้ว่าพังทลาย นี่คือมิติแรกของสงครามชายแดน
มิตินี้อาจเอาชนะกันด้วยอาวุธ เทคโนโลยีที่เหนือกว่า แต่ในมิติต่อไปกำลังอาจไม่ใช่ตัวชี้ขาด

มิติที่สองคือ “มิติด้านข้อมูลข่าวสาร” ถ้าเป็นเมื่อก่อนข่าวสารอาจะเป็นเรื่องข่าวสารจากทางการ แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของการสร้างข่าวและความน่าเชื่อถือทางโซเชียลมีเดีย
ทุกการกระทำ ทุกการโจมตี และทุกความเสียหาย ถูกนำเสนอในโลกออนไลน์ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ หรือพูดให้ชัดกว่านั้น คือ “การช่วงชิงการสร้างความจริง” เพราะจุดชี้เป็นชี้ตายอาจไม่ได้อยูู่ที่ความจริงที่เกิดขึ้น แต่อยู่ที่ความจริงที่ว่าใครเป็นคนกำหนด
เราเห็นเพจ เราเห็นโซเชียลมีเดียของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้นำทั้งสองประเทศ ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ช่วงชิงความเป็นจริง ช่วงชิงความชอบธรรม
และไม่เพียงหน่วยราชการหรือผู้นำเท่านั้นระดับประชาชนเองก็มีการสร้างสงครามข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน และมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้ามอย่างใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งบันทึกความเป็นจริงที่ถูกกระทำ
ซึ่งมิตินี้ การใช้อาวุธปกติมิสามารถเอาชนะได้ แต่ต้องใช้มันสมองและเทคโนโลยีเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ แน่นอนว่าสงครามข้อมูลข่าวสารนั้นจะใช้ระยะเวลาที่มากกว่าสงครามชายแดน

และมิติที่ 3 คือ “มิติสงครามการทูต” เราจะเห็นท่าทีของทั้งไทยและกัมพูชาพยายามช่วงชิงความได้เปรียบในเวทีโลก
ก่อนที่เสียงปืนนัดแรกของเช้าวันที่ 24 จะดังขึ้น สงครามนี้ได้อุบัติขึ้นมาก่อนนั้น ก่อนหน้านี้กัมพูชาก็ฟ้องเวทีโลกว่าไทยรุกราน ขณะที่ไทยเองก็ฟ้องว่ากัมพูชายั่วยุ
หลังเหตุทหารไทยเหยียบกับระเบิด ไทยฟ้องนานาชาติทันทีว่ากัมพูชาละเมิดสนธิสัญญาควบคุมทุ่นระเบิดบุคคล หรือที่เรียกว่าสนธิสัญญาออตตาวา ขณะที่กัมพูชา อ้างว่าไทยสร้างสถานการณ์
ทันทีที่เสียงปืนดังขึ้น กัมพูชาฟ้องโลกว่าไทยเริ่มก่อน เช่นเดียวกับไทยที่บอกว่ากัมพูชาเริ่มก่อน
เมื่อกัมพูชาโจมตีเป้าหมายพลเรือน โดยเฉพาะโรงพยาบาล ไทยบอกโลกว่ากัมพูชาเล่นนอกกติกาและที่ผ่านมาอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดและวันนี้ถึงเวลาที่เส้นความอดทนจะขาดผึง

กัมพูชาแก้เกมทำหนังสือถึงสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเล่นบทเหยื่อ และขอให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซง แน่นอนทุกคนเห็นถึงเป้าหมายว่ากัมพูชาต้องการพาเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลโลกโดยไม่สนความเสียหาย
ส่วน รมต. ต่างประเทศของไทย อาศัยความได้เปรียบที่อยู่ที่นิวยอร์กเพื่อร่วมการประชุมอีกวง ชี้แจงและฟ้องโลกว่าเกิดอะไรขึ้น และไทยอดทนอดกลั้นเพียงใด
ในมิตินี้อาวุธ หรือเทคโนโลยีการสื่อสารไม่ใช่เรื่องชี้ขาด แต่อยู่ที่การสร้างความเชื่อถือ โดยใช้ทั้งข้อเท็จจริงในพื้นที่และข้อมูลข่าวสารมาโน้มน้าม และใครที่ทำให้นานาชาติเชื่อได้มากกว่าผู้นั้นคือผู้ชนะในระยะสุดท้าย และอาจเป็นการพลิกชนะแม้สงครามตามรุปแบบจะยุติลงก็ตาม

ดังนั้นเมื่อเป็นสงคราม “สามมิติ” ไทยจึงต้องละเอียดทุกขั้นตอน ตอนนี้เราได้เปรียบเพราะการโจมตีแบบหมาบ้า ทำให้ทุกชาติเห็นว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่เราพึงต้องรักษาความได้เปรียบนี้เอาไว้ ให้ถึงที่สุด
และต้องเลิกเล่นบท “ต.เต่าเชื่องช้า” เดินเกมตามหลังกัมพูชา เพราะมิเช่นนั้น การชนะในพื้นที่ หรือชนะความได้เปรียบในช่วงแรกจะไม่มีผล
ที่สำคัญเรื่องนี้ต้องจบให้เร็วที่สุดเพราะชีวิตอีกหลายชีวิตไม่ควรจะต้องมาสูญเสียกับเรื่องแบบนี้
