
ตีลังกาเล่าข่าว โดย “กรรณะ”
เรียกได้ว่าจังหวะและไทม์มิงของรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” ไม่ดีเอาเสียเลย แม้ว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีใหม่ไปเมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 ก.ค. 68 แต่ตกบ่ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้ “นายกฯแพทองธาร” ยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากปมคลิปเสียง
แม้เธอจะใส่ชื่อตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อหวังจะนั่งร่วมประชุม ครม. แต่ข้อเท็จจริงคือ เธอยังทำไม่ได้ตามที่ใจอยาก
เพราะตามกฎหมายการที่เธอจะทำหน้าที่ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องถวายสัตย์ปฏิญานเสียก่อน แต่ก็เกิดคำถามว่าผู้ที่จะพาเธอเข้าถวายสัตย์ฯคือใคร

ปกติการเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ฯ เป็นหน้าที่ของ นายกฯ หรือตัวเธอเอง แต่เมื่อเธอไม่สามารถทำหน้าที่ได้ก็มีคำถามว่าจะเป็นใครทำ แม้ว่าหลายคนจะตีความว่ารักษาราชการแทนนายกฯอย่าง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ทำได้ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่มองไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามโจทย์ใหญ่จริงๆ อาจไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่อยู่ที่หลังจากนี้ต่างๆ หาก
เอากันตรงๆ คือไม่มีใครที่มั่นใจได้เลยว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จะเป็นคุณกับตัวเธอ หลายคนมองข้ามช็อตไปถึงวันที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยซ้ำ
นาทีนี้จึงมีเสียงเรียกร้องให้ รักษาราชการนายกฯ ใช้อำนาจเสนอพระราชกฤษฎีกายุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และปลดล็อกปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คนที่เรียกร้องเพราะเล็งเห็นว่า นาทีนี้เกมแห่งอำนาจอาจไปลงเอยที่ “สุญญากาศ” และเมื่อเกิดสภาวการณ์เช่นว่าเมื่อนั้นอำนาจนอกระบบก็อาจจะอาศัยจังหวะสอดแทรกเข้ามา
ข้อเรียกร้องจึงถูกส่งต่อไปยัง “รักษาราชการนายกรัฐมนตรี” ให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร แต่คำถามก็ยังมีตัวใหญ่ๆ แม้จะอยากใช้จะใช้ได้หรือไม่ เพราะอาจจะมีคนไปร้องอีกว่าไม่สามารถทำได้
แต่เท่าที่ดูนาทีนี้รัฐบาลก็เลือกที่จะใช้วิธีการสู้ต่อ และไม่ยอมยุบสภา
เรามาดู “ฉากทรรศน์” ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้เพื่อนำไปสุญญากาศ อย่างแรกคือม็อบที่รออยู่แล้วและพร้อมจะยกระดับขึ้น
ประการต่อมาคือ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกฯต้องพ้นจากตำแหน่ง ถึงนาทีนั้น การยุบสภาก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกต่อไป
ต้องไม่ลืมว่าการยุบสภาเป็นทางเดียวที่จะการันตีว่าสภาวะ “สุญญากาศ” จะไม่เกิดนาน เพราะปลายทางอีกไม่เกิน 60 วันนับจากวันยุบฯ ก็จะต้องเกิดการเลือกตั้งและหลังจากนั้นก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการการเลือกของประชาชน ที่ยากเกินกว่าใครจะขัดขวางได้

แต่หากไม่สามารถยุบสภาได้ ก็หมายถึงกว่าเลือกตั้งจะเกิดได้ก็อีก 2 ปี ข้างหน้า
อาจจะมีคนบอกว่า “ก็เลือกนายกฯ คนใหม่สิ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ?”
แต่จุดนี้แหละคือจุดที่ยากที่สุดในสมการการเมืองที่เรียกว่า “การเมืองสามก๊ก” แบบที่เรากำลังเผชิญอยู่
ก๊กแรกคือ “พรรคเพื่อไทย” ก๊กที่สองคือ “พรรคประชาชน” สองก๊กนี้มีพลังพอๆกันคือ ก๊กละ 140 เสียง ส่วนอีกก๊กคือ “ภูมิใจไทย” ที่มีอยู่ 60 เสียง ส่วนที่เหลือคือขนาดกลางและขนาดเล็กที่พร้อมจะสวิตช์ และไปตามกระแส
คำถามคือ ในสภาวะการเมืองแบบนี้ ใครจะจับมือกับใครได้
มาที่ “เพื่อไทย” และ “ประชาชน” ถ้าคู่นี้จับกัน รัฐบาลสุดจะแข็งแกร่ง เสียงเพียงพอ โดยไม่ต้องง้องอนพรรคอื่น
ก่อนการเลือกตั้งทั้งคู่หวานชื่นดูดดื่ม แต่วันเวลาผ่านไปทั้งคู่ออกห่างกันขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเส้นขนาน
มิพักถึงต้องพูดว่า หากทั้งคู่จับมือกันจริง ย่อมเป็น “ฝันร้าย” ของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และแน่นอนว่าข้อหาต่างๆจะประดังประเดมา ขนาดที่ “เพื่อไทย” เองก็อาจจะรับไม่ไหว และต่อให้ตั้งได้ก็น่าจะอยู่ไม่นาน
มาดูที่สมการต่อมา “ประชาชน” จับกับ “ภูมิใจไทย” รวมแล้วมี 200 เสียง กลมๆ ต้องอาศัยพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่ง
เราต้องไม่ลืมว่าจุดยืนของพรรคประชาชน และ ภูมิใจไทยนั้น แม้จะเคยแย้มๆ ว่าพร้อมจะทำงานร่วมกัน แต่เรื่องจริงที่ปรากฏ ทั้งคู่เป็นน้ำและน้ำมัน จุดยืนอยู่คนละด้านของการเมือง และกำลังจะเป็นคู่ชิงหากเกิดการเลือกตั้งในครั้งต่อไป
ไม่รวมพรรคเล็กพรรคน้อยที่อาจไม่สบายใจในการทำงานกับพรรคประชาชนที่ว่ากันว่า “แข็งปั๋ง” ไม่ประณีประณอม
และสมการสุดท้ายคือ “เพื่อไทย” จับมือกับ “ภูมิใจไทย” คู่นี้อาจจะเคยดูดดื่มเป็นพันธมิตรช็อกมินต์ แต่ก็เหมือนคู่แต่งงานที่เพิ่งหย่าร้าง ดังนั้นการกลับมาอยู่ด้วยกันคือภารกิจระดับ “มิชชั่น อิมพอสซิเบิล”
ภาวะเช่นนี้เราอาจจะเห็นการตั้งรัฐบาลไม่ได้ไปหลายเดือน และประเทศก็จะร้างราจากนายกฯ เป็นเวลานาน จนอาจมีบางคนมองว่าไม่มีทางที่จะตั้งได้ และเมือนั้นทางออกอื่นก็จะได้รับความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
“ฉากทรรศน์” นี้จึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือแย่ไปกว่านั้นหาก “เพื่อไทย” ตัดสินใจเปลี่ยนนายกฯ หลังถูกถอดถอน ม็อบก็อาจจะไม่ยอมและยกระดับการชุมนุมจนอาจเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่เคยสร้างความชอบธรรมให้ทางออกนอกระบบ
เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องในอนาคต แต่ดูเหมืนอว่านาทีนี้เส้นทางของ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” จะถึงทางตันเสียแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรเท่านั้น