
ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ
ช่วงแค่ไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความผิดพลาดของ กยศ. หรือกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาถึงสองครั้ง และแต่ละครั้งสร้างคำถามและความเชื่อมั่นให้ผู้กู้ที่กำลังชำระหนี้
จริงอยู่ที่มีหนี้ก็ต้องใช้ แต่การใช้คืนก็ต้องใช้คืนอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกัน กรณีแรกเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่แม้จะหักเเงินไปแล้ว แต่ตัวเลขเงินต้นแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้น
คำชี้แจงของสำนักงาน กยศ. คือ มีการปรับสูตรการคำนวนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ซึ่งหวังจะให้จูงใจให้คนมาใช้หนี้ กยศ. มากขึ้น โดยเฉพาะการปรับสูตรให้ ตัดต้นก่อนตัดดดอก และยกเว้นเบี้ยปรับหากผ่อนหมด
ซึ่งการปรับสูตร ทำให้ระบบคำนวณแปลกจนคนตั้งคำถาม และ กยศ. ต้องออกมาชี้แจง และเรียกร้องขอให้รอปรับระบบ
แต่แล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็เห็นข่าวเรื่องการตัดเงินชำระค่างวดเกินกว่าที่กำหนด ซึ่ง กยศ. ก็ออกมาชี้แจงว่าเป็นความผิดพลาด
เล่นเอาหลายคนทำท่าบอกว่าแบบนี้ไม่อยากจ่ายและอยากให้ กยศ. ปรับระบบให้เรียบร้อยเสียก่อน

จริงอยู่ที่ระบบของ กยศ. มีความผิดพลาด แต่ปัญหาของความผิดพลาดเกิดจากความพยายามที่จะอุดรูรั่ว ซึ่งหากใช้ภาษาปากก็ต้องบอกว่ากองทุน กยศ. ใกล้ล้มละลายเต็มทน ต้นเหตุไม่ได้มาจากอะไรอื่น แต่มาจากลูกหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก
ก่อนอื่นเราต้องปรับความเข้าใจกันก่อนว่า แม้ชื่อจะเป็นไปเพื่อ “การศึกษา” แต่เนื้อแท้ของการทำงานและองค์กรนี้ไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่สถานศึกษา หากแต่เป็นการบริหารจัดการ “เงิน” ในรูปแบบของกองทุน เพื่อให้นักศึกษาเอาไปกู้เรียน เช่นเดียวกับประกันสังคม หรือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ใช่องค์กร “สุขภาพ” แต่เป็นกองทุนบริหารเงิน เพื่อให้เอาไปใช้ในกิจการสุขภาพ
ดังนั้นเมื่อเข้าใจตรงกันว่านี่คือ “กองทุน” นี่คือ “กองเงิน” การอยู่ต่อ ก็ต้องมีเงินเพื่อให้บริหารได้ และเหตุการณ์ที่จะทำให้กองทุนล้มละลายก็มีประการเดียวคือ “รายได้” น้อยกว่า “รายจ่าย”
ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ “เงินออก” ซึ่งก็คือ “คนกู้” มีมากกว่า “เงินเข้า” หรือคนใช้หนี้
หากไปส่องดูเนื้อในจะพบว่า กยศ. มีหนี้เสีย อันมาจากการค้างชำระจากผู้กู้เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567 ชี้ว่า 64.4% ของผู้กู้ ค้างชำระหนี้ โดยมีผู้ค้างชำระหนี้รวมประมาณ 3.58 ล้านคน จากผู้กู้ยืมทั้งหมด 7.16 ล้านคน และมีเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้นที่ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
และที่ผ่านมา กยศ. ขาดทุนทางการเงินเฉลี่ย ปีละ 11,000 ล้านบาทต่อปี และคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายจะพุ่งสูงถึง 72,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 ขณะที่ยอดรับชำระหนี้ในปี 2566 มีเพียง 25,000 ล้านบาท แค่นี้ก็เห็นแล้วว่ากองทุน กยศ. กำลังเผชิญชะตากรรมเช่นไร

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ยอดเงินสดคงเหลือของ กยศ. อาจลดลงถึง 7-8 หมื่นล้านบาทภายในปี 2570 ซึ่งจะกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของนักศึกษาใหม่กว่าแสนคน และถังแตกในที่สุด
เมื่อรายได้ไม่เข้าเพราะคนไม่จ่ายหนี้ กยศ. เลยต้องหาทางแก้ และพวกเขาเชื่อว่าวิธีจูงใจให้คนชำระหนี้เป็นทางี่ดีที่สุด จึงปรับแก้กฎหมาย เพื่อจูงใจให้ชำระหนี้ ทั้งการตัดต้นก่อนตัดดอก ซึ่งไม่เหมือนกับธนาคารทั่วไปที่เลือกจะตัดดอกเบี้ยแล้วค่อยไปหาเงินต้นตามลำดับ แถม กยศ. ยังจะเว้นเบี้ยปรับให้หากชำระหมด เรียกว่าลดแลกแจกแถมกันสุดๆ
ทำให้นี่คืออีกหนึ่งความผิดพลาด เพราะ กยศ. ไม่เลือกที่จะบริหารในลักษณะกองทุนปกติ เพื่อที่จะให้กองทุนเดินหน้าต่อไป แต่เลือกที่จะบริหารในลักษณะเอาปัญหาไปแก้ปัญหา
เพราะแทนที่จะหารายได้เพิ่ม แต่กลับทำให้กองทุนมีรายได้ลดลงไปอีก ทั้งจากการลดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
และยังต้องคืนเงินให้กับผู้กู้ยืมบางรายที่ชำระเกินไปอีกจากการปรับสูตรคำนวณ ซึ่งส่งให้สภาพคล่องของกองทุนอยู่ในฐานะพิกลพิการ
รัฐบาลและ กยศ. อาจต้องมาตั้งเป้าใหม่ว่า หากอยากให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสทางการศึกษา ก็ต้องตั้งเป้าบริหารกองทุนให้เป็นกองทุน มิใช่เป็น “กองหนี้” เพียงเพื่อหวังทำการกุศล
การคิดต้นคิดดอก ก็ต้องเป็นไปในแบบปกติ เพราะคนที่จบแล้วก็คือผู้ใหญ่ปกติหนึ่งคน ที่มีภาระต้องรับผิดชอบและภาระเหล่านี้ก็รับรู้ตั้งแต่กู้เงิน หากไม่ทำตามก็เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องและชำระหนี้
เพราะการชำระหนี้ที่ถูกต้องก็ถือเป็น “หน้าที่” ของพลเมืองที่ดีเช่นกัน
ยิ่งกว่านั้นหาก กยศ. ตั้งต้นแบบผิดฝาผิดตัว เป็นลิงแก้แห กองทุนนี้ก็จะกลายเป็น “กองหนี้” กองใหญ่ที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม เพราะเงินไหลออกจะมีมากขึ้น แต่เงินไหลเข้าจะทำได้น้อยลง เพราะต้องไม่ลืมว่าการที่บางคนไม่ใช้หนี้ไม่ได้เกิดเพราะความไม่มีอย่างเดียว แต่มาจากลักษณะนิสัย
เพราะเราก็เห็นแล้วว่าคนที่ไม่มีแต่มีวินัยต่อให้อย่างไรพวกเขาก็จะหาทางชำระตั้งแต่วันที่สามารถชำระได้น้อยๆ
ส่วนคนกู้ที่ไม่ยอมจ่ายพึงสังวรณ์ว่าคุณกำลังตัดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษา และเชื่อว่าหาก กยศ. มีรายได้ที่เพียงพอกว่านี้ ระบบที่มีประสิทธิภาพก็จะตามมาเอง