กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ’ องค์อุปถัมภ์สัมพันธ์จีน-ไทย

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ’ องค์อุปถัมภ์สัมพันธ์จีน-ไทยกว่า 4 ทศวรรษ

วานนี้ 25 ก.ย. 2562 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา หากพูดถึงประเทศจีนแล้ว คำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยพี่น้องกัน” ยังคงได้รับเสียงขานรับจากคนไทยจำนวนมาก
ประชาชนทั้งสองประเทศสืบสานความเป็นพี่น้องด้วยการแลกเปลี่ยนฉันมิตรนานนับพันปี ผ่านการอพยพและการหล่อหลอมรวมเข้ากับคนไทยของชาวจีน ในแผ่นดินไทยมานานหลายร้อยปี รวมถึงความพยายามในปัจจุบันในการร่วมสรรสร้างเส้นทางสายไหมในยุคสมัยใหม่

ภาพจากอีจัน

มิตรภาพอันทรงคุณค่านี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหนึ่งในผู้อุปถัมภ์มิตรภาพดังกล่าว และทรงได้รับการยกย่องในฐานะต้นแบบสำคัญที่สุดในการสืบสานมิตรไมตรีระหว่างสองประเทศ

ภาพจากอีจัน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพบกับหวังอี้ มุขมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ กรุงปักกิ่ง (บันทึกภาพวันที่ 4 เม.ย. 2019)

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติ 6 คน ที่ได้รับการประกาศเกียรติยศ ด้วยรางวัลเหรียญมิตรภาพ ซึ่งเป็นรางวัลกิตติมศักดิ์ที่อนุมัติโดยคำสั่งประธานาธิบดี ในวาระครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรางวัลเกียรติยศนี้จะมอบให้แก่ชาวต่างชาติที่มีคุณูปการในการส่งเสริมความเป็นสมัยใหม่แก่สังคมนิยมจีน การสนับสนุน แลกเปลี่ยน และร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศ รวมถึงการพิทักษ์ไว้ซึ่งสันติภาพของโลก
ในวโรกาสนี้ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานสัมภาษณ์แก่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าพระองค์ทรงปิติยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเหรียญรางวัลดังกล่าว และทรงซาบซึ้งที่ทางการจีนทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพบกับเติ้งเสี่ยงผิง ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (บันทึกภาพวันที่ 14 พ.ค. 1981)

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 1955 ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา เป็นช่วงที่ไทยและจีนเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต หลังจากนั้น 5 ปี พระองค์จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาจีนกลางโดยได้รับพระราชานุเคราะห์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานสัมภาษณ์แก่สำนักข่าวซินหัว ความว่า
“โตขึ้นก็รู้จักแล้ว สมัยนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทยยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แต่ก็มีการติดต่อกันคือมีสถานีวิทยุปักกิ่งส่งกระจายเสียง” พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยมีพระราชดำรัสว่า “ชาวจีนเป็นผู้ที่ชอบหนังสือ ชอบวิชาการ ฉะนั้นการรู้ภาษาจีนทำให้มีโอกาสมีความรู้ใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ”

ภาพจากอีจัน

ในพระราชนิพนธ์ “หยกใสร่ายคำ” (Verses of Clear Jade) ฉบับแปลไทย ที่ทรงแปลจากกวีนิพนธ์จีนโบราณ พระองค์ทรงแปลบทประพันธ์บทหนึ่งไว้ว่า “จะเป็นจีนเป็นไทยใช่ใครอื่น จงชมชื่นผูกจิตสนิทมั่น เด็ดผกาแทนใจผูกพัน แบ่งปันประดับเรือนเตือนตาเอย”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเขียนข้อความ ณ หมู่บ้านโอลิมปิก กรุงปักกิ่ง โดยมีคณะบุคคลเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างอบอุ่น (บันทึกภาพวันที่ 7 ส.ค. 2008)
ระยะเวลา 38 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงเปลี่ยนพระราชดำรัสของพระองค์ให้เป็นความจริงได้ ด้วยการอุปถัมภ์ความร่วมมือไทย-จีน ทั้งในด้านวัฒนธรรม การศึกษา และด้านอื่นๆ พระองค์เสด็จฯ ยังหลายมณฑล เขตปกครองตนเอง และบรรดาเมืองใหญ่ เกือบทุกแห่งทั่วประเทศจีน พระราชนิพนธ์ต่างๆ ของพระองค์จึงเป็นแหล่งความรู้ในการศึกษาประเทศจีนอันกว้างใหญ่แห่งนี้ให้กับชาวไทย
ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนครั้งแรกเมื่อปี 1981 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เยือนนครปักกิ่ง ซีอาน เฉิงตู และคุนหมิง หลังจากนั้น พระองค์ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ลงในพระราชนิพนธ์ท่องเที่ยว “ย่ำแดนมังกร” โดยทรงบรรยายสิ่งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรให้พสกนิกรชาวไทยได้อ่าน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังงานเปิดตัวพระราชนิพนธ์แปล “นารีนครา” (บันทึกภาพวันที่ 28 มี.ค. 2013)
หลังจากนั้น 9 ปี พระองค์เสด็จฯ เยือนจีนเป็นครั้งที่สอง โดยเสด็จฯ เยือนแถบตะวันตกของประเทศตามแนวเส้นทางสายไหมโบราณ ตั้งแต่นครซีอาน เรื่อยไปจนถึงเมืองคัชการ์ เขตปกครองตนเองซินเจียง แล้วจึงทรงถ่ายทอดประสบการณ์ลงใน “มุ่งไกลในรอยทราย” พระราชนิพนธ์ท่องเที่ยวเล่มที่สอง 

ภาพจากอีจัน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีน-ไทย เมื่อปี 2000 กระทรวงศึกษาธิการของจีนจึงทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีนแด่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
หลายปีที่ผ่านมา ความสนพระทัยประเทศจีนของพระองค์ยังขยายไปสู่ด้านเทคโนโลยีและการศึกษา พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งสถาบันขงจื่อขึ้นเมื่อปี 2006 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานศึกษาที่พระองค์ทรงจบการศึกษา โดยการก่อตั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (บันทึกภาพวันที่ 1 ธ.ค. 2014)
เมื่อเดือนเมษายน 2013 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เยือนนครเทียนจิน ทางตอนเหนือของจีน เพื่อส่งเสริมความพยายามทวิภาคีในด้านอาชีวศึกษา และช่วยให้นักเรียนไทยได้รับทุนจากทางการนครเทียนจินสำหรับการฝึกอบรมระยะสั้นหรือศึกษาต่อในนครเทียนจิน นอกจากนี้ยังมีโครงการการศึกษาตามแนวทางจีนในวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2016

ภาพจากอีจัน

พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ว่า “ที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับโครงการวิจัยของจีน ที่ลำพังประเทศไทยจะไม่มีโอกาสเช่นนี้”
“คนจีนขยันขันแข็ง มีวัฒนธรรมที่ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว น่าจะก้าวหน้ามาก น่าจะมีการค้นคว้าทางเทคโนโลยีเพิ่มยิ่งๆ ขึ้น เพื่อให้เจริญยั่งยืนและมั่นคง” พระองค์ทรงมีพระราชดำรัส

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.xinhuathai.com