ซึมเศร้า ภัยร้ายฆ่าตัวตาย

แพทย์เผย คนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ภัยร้ายใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม แนะคนรอบข้างควรรับฟังอย่างเข้าใจ

จากกรณีการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่มมากความสามารถ เหม ภูมิภาฑิต นิตยารส สร้างความเสียใจให้กับครอบครัวและคนสนิทอย่างมาก ซึ่งสาเหตุจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จึงตัดสินใจจบชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา

ภาพจากอีจัน

วานนี้ (26 ก.ย.62) เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้ออกมาโพสต์เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงของโรคซึมเศร้า โดยระบุข้อความว่า
ผลร้ายแรงของการเป็นโรคซึมเศร้าคือ การฆ่าตัวตาย เกิดความสูญเสียที่ไม่มีวันย้อนคืน อย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ที่สำคัญโรคซึมเศร้าสามารถเกิดกับใครก็ได้ ไม่มีการแบ่งแยก ว่าจะเป็นดารา หรือคนทั่วไป ไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ สีผิว หรือ ความยากดีมีจน แม้แต่เด็กๆ
การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าจะอ่อนแอลง หรือดราม่ากว่าคนอื่น แต่ซึมเศร้าคือความเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง

ภาพจากอีจัน

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน คนที่มีภาวะโรคซึมเศร้า จะมีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย ยิ่งถ้าเป็นในเด็กและวัยรุ่นที่ซึมเศร้า อาการที่แสดงออกมาอาจจะไม่ตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่
รวมถึงสิ่งที่เคยชอบ เมื่อทำแล้วกลับไม่สนุก ไม่ดีเหมือนเดิม เบื่อไปหมดทุกอย่าง ไม่อยากทำอะไร เริ่มอยู่คนเดียว แยกตัว ไม่สนใจใคร
บางรายอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน มีอาการนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิเบื่ออาหาร น้ำหนักลด

โรคซึมเศร้าจะส่งผลถึงการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง บางรายที่รุนแรง ถึงขั้นจิตประสาทหลอน หวาดระแวง หรือทำร้ายตัวเอง อย่างที่เห็นในข่าว
คนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องการความเข้าใจ ใครสักคนที่รับฟัง ยอมรับในสถานะที่เขาเป็นอยู่ โดยไม่ไปตัดสิน
รวมถึงคำพูดปลอบใจที่คนซึมเศร้าไม่อยากได้ยิน เช่น
แค่นี้เอง ไม่เป็นอะไรมากหรอก,อย่าไปคิดมาก,ฆ่าตัวตายทำไมบาปนะ,ทำไมไม่คิดถึงพ่อแม่
คำพูดเช่นนี้อาจยิ่งทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ และยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ เมื่อมีข่าวคนที่เป็นซึมเศร้าทำร้ายตัวเอง หลายคนก็เอามาวิจารณ์กันในโลกโซเชียล ซึ่งมันคือความไม่เข้าใจและการไปตัดสิน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น

ดังนั้น คนรอบข้างควรระมัดระวังเรื่องการทำร้ายตัวเอง พาเขาไปรับการรักษาและคำปรึกษาจากจิตแพทย์
เบื้องต้นสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่เบอร์ 1323 บริการ 24 ชั่วโมง หรือที่องค์กรสมาริตันส์ ประเทศไทย 02713-6793 (ภาษาไทย เวลา12.00 – 22.00) กับ 02713-6791 (ภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง)