กฎหมายบังคับนายจ้างต้องขึ้นเงินเดือนทุกปีจริงหรือไม่ ?

รู้ข้อกฎหมายแรงงาน จริงหรือไม่? กฎหมายบังคับนายจ้างต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี อ้าง KPI ต่ำ บริษัทไม่ขึ้นเงินเดือนให้ได้หรอ ?

จากเพจ กฎหมายแรงงาน วันที่ 25 ต.ค.65 ได้มีการโพสต์ข้อความที่เป็นการตอบปัญหาข้องใจ จากประเด็นที่บริษัทไม่ขึ้นเงินเดือน

“บริษัทไม่ขึ้นเงินเดือนมา 2 ปี แล้วโดยบริษัทอ้างว่า KPI เราต่ำ ดูเหมือนบริษัทจะกดดัน ให้ลาออกไปเองเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งได้ทำงานมา 10 ปีแล้ว”

“เวลาทำงานต้องนับรวมช่วงทดลองด้วยไหม”

ซึ่งทางเพจ กฏหมายแรงงาน โดยรองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ ได้ตอบคำถามและแบ่งเป็น 3 ประเด็น

1. การที่นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายที่บังคับว่าจะต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี แต่การจ่ายค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ถ้านายจ้างกับลูกจ้าง มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่าต้องขึ้นเงินเดือนไม่น้อยกว่าปีละกี่บาท หรือขึ้นค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ของกำไร ถ้าเช่นนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างตามที่ตกลงไว้

กรณีรัฐวิสาหกิจ สภาพการจ้างที่เกี่ยวกับเงินก็อาจต้องขออนุมัติจาก ครม ก่อน เว้นแต่รัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้น

2.การเลิกจ้างโดยบริษัท นอกจากเลิกจ้างโดยชัดแจ้ง ยังมีการเลิกจ้างโดยปริยาย ซึ่งเป็นการที่นายจ้างแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการลูกจ้างแล้ว เช่น นายจ้างแจ้งว่า”ให้ไปรองานที่บ้าน” แต่เป็นการรอแบบไม่มีกำหนด แบบนี้ก็ถือว่าเลิกจ้าง (ฎีกา 7393/2562) การเรียกตำแห่งคืน ก็ถือเป็นการเลิกจ้างโดยปริยาย(ฎีกา2575/2548) หรือให้หยุดงานเพราะอายุครบ 60 ปี (ฎีกา3038/2533)

จากคำถามการไม่ขึ้นค่าจ้างที่นายจ้างอ้าง คือ KPI หรือตัวชี้วัดไม่ดีจึงไม่ขึ้นเงินเดือนยังไม่ถือว่าเป็นการกดดันในการทำงาน และถือเป็นการใช้เครื่องมือปกติอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

3.การนับเวลาในการทำงาน ต้องนับเวลาในการทดลองงานหรือไม่ คำตอบคือ นับด้วย รวมถึงวันหยุด วันลา ก็นับรวมเป็นเวลาทำงาน แต่จะไม่นับวัน เวลา ที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงาน หรือตามที่ “ภาครัฐสั่ง” ให้หยุดช่วงโควิด 19

ทนายเกิดผล แก้วเกิด

นอกจากนี้ อีจันเรายังได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ทนายเกิดผล แก้วเกิด โดยทนายบอกว่าการขึ้นเงินเดือนในทุกๆปี ก็จะขึ้นอยู่กับสัญญาว่าจ้าง และกฎหมายแรงงาน โดยประการแรกเขามีสัญญาว่าจ้างว่าอย่างไร มีเงื่อนไขว่าผ่านการทดลองงาน ผ่านการทดสอบงาน หรือประเมินผลแล้วเขาจะปรับเงินเดือนให้ทุกปี ถ้าผ่านก็ต้องเป็นไปตามนั้น และอีกอย่าง ถ้ากฎหมายแรงงานกำหนดไว้ว่าเงินดือนขั้นต่ำเท่าไร ก็ต้องปรับให้สูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำอยู่แล้ว ถ้ายังก็ต้องปรับให้ถึง

การนับเวลาการทำงาน ถ้าช่วงทดลองก็นับรวมกับช่วงทำงานอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นโบนัสประจำปีก็ต้องดูกันก่อนว่าอยู่เกินช่วงทดลองงานหรือไม่

ส่วนกรณีที่ไม่ได้รับเงินเดือนก็สามารถร้องเรียนได้ที่กรมแรงงาน แต่ก่อนจะร้องเรียนก็ต้องดูในสัญญาจ้างงานด้วยว่าผ่านเกณฑ์หรือมีคุณสมบัติที่จะปรับเงินเดือนขึ้นมีหรือไม่ เพราะต้องมีคุณสมบัติในการปรับเงินเดือนขึ้นด้วย บางคนอาจจะถูกลดเงินเดือนด้วยซ้ำ ถ้าทำผิดระเบียบหรือเงื่อนไข

ขอบคุณ : เพจเฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน , ทนายเกิดผล แก้วเกิด

คลิปอีจันแนะนำ
เกือบคลอดกลางงานกฐิน!