คุยกับรองผู้ว่าฯ กทม. คุณสกลธี ภัททิยกุล เรื่อง ล้อ ราง เรือ

การเดินทางที่สะดวกของคนกรุง

อีจันมีโอกาสตามไปดูการตรวจงานของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณสกลธี ภัททิยกุล ในเช้าวันหนึ่ง จึงขออนุญาตซักถามเบา ๆ เรื่อง การเชื่อมต่อเส้นทางสาธารณะของคนกรุง

สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
นโยบายล้อ ราง เรือ เป็นนโยบายดำริมาจากท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครับ อยากจะให้การเชื่อมโยงของการขนส่งของมวลชนในกรุงเทพฯ มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ให้ประชาชนมีการเดินทางที่ครบวงจรมากขึ้น ล้อ คือ ระบบไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ หรือ BRT ของกรุงเทพฯ ราง คือ ระบบ BTS,MRT และ เรือ คือ เส้นทางการเดินทางในคลองของกรุงเทพฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลองภาษีเจริญ คลองแสนแสบ แม่น้ำเจ้าพระยา
ล้อ ราง เรือ
ทางกรุงเทพฯ เราก็รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีมา ก็จะไปเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ ก็จะมีเส้นทางที่คลองบางกอกใหญ่ คลองบางหว้า ที่ไปวัดกำแพง เส้นนั้นเป็นเส้นที่รับนโยบายท่านนายกฯ มาโดยตรง ที่ท่านอยากจะเห็นการเดินเรือกึ่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือเรานั่งรถไฟฟ้ามาจากตรงไหนก็ตาม มาลงบางหว้าแล้วเดิน Sky walk 200 เมตร จะถึงท่าเรือบางหว้า นั่งเรือต่อไปที่วัดกำแพง ซึ่งระหว่างเส้นทาง ก็จะเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ เป็นทางเดินเรือสมัยรัชกาลที่ 5 และจะมีวัดสำคัญมากมาย อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เรารับนโยบายมาเยอะๆ
เส้นทางล้อ ราง เรือ
ในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นการเดินจากบางหว้าเหมือนกัน แต่คราวนี้เราจะออกไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาและไปเชื่อมบางกอกน้อย อันนี้ก็จะเป็นผสมผสานระหว่างเส้นทางเดินเรือวัฒนธรรมกับเส้นทางที่เชื่อมโยงกับขนส่ง เพราะเส้นทางใหม่มันจะเชื่อมโยงทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคตและรถไฟฟ้าใต้ดินสีน้ำเงิน และจะเป็นการเชื่อมเรือด่วนเจ้าพระยาของเอกชนที่เขาได้เดินในเส้นทางย่อยๆ เป็นการปิดช่องว่างตรงนั้น
เส้นทางล้อ ราง เรือ
แล้วก็อีกอันหนึ่งก็คือคลองแสนแสบ แต่เดิมเขาจะเดินถึงแค่วัดศรีบุญเรือง และจากวัดศรีบุญเรืองไปมีนบุรี เดินทางยากมาก เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าตรงรามคำแหง ท่านนายกฯ ก็ให้นโยบายมาที่กรุงเทพฯ เราก็ไปสำรวจเส้นทางจากวัดศรีบุญเรืองไปสำนักงานเขตมีนบุรี ตรงนี้จะมีท่าเรือทั้งหมด 14 ท่า แต่ต้องมีการซ่อมแซมเพราะว่าไม่ใช้มานานแล้ว ก็จะพยายามเดินเรือให้ได้ภายในปีใหม่นี้ แต่ว่าอาจจะไม่ถึง 14 สถานี อาจจะซัก 4-5 สถานีก่อน ที่ประชาชนใช้กันเยอะ เพื่อจะเป็นการช่วยแบ่งคนที่เดินทางจากสำนักงานเขตมีนบุรีเขามาเรือด่วนของเอกชนที่วัดศรีบุญเรือง
เส้นทางเรือ
เส้นทางเรือ
ส่วนเรือสุดท้ายคือ คลองผดุงกรุงเกษม อันนี้เป็นนโยบายท่านนายกฯ แบบจริงจังมาก คือท่านอยากจะเห็นมานาน ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคมนี้เราจะเปิดใช้แล้ว เดินทางตั้งแต่หัวลำโพงยาวไปถึงวัดเทวราชกุญชร เรือจะเดินตั้งแต่ 8.00-20.00 น. ทุกวัน ความถี่ของเรือ 10-20 นาที จุดนี้จะเด่นเรื่องเชื่อมโยงอย่างที่ท่านนายกฯ ตั้งใจไว้ คือ นั่งรถไฟใต้ดินจากไหนก็ตามมาที่หัวลำโพง เดินไปอีกแค่ 50 เมตร ก็จะถึงท่าเรือ แล้วพอเราลงไปที่คลองผดุงกรุงเกษม ระหว่างทางก็จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวย้อนยุคและร้านอาหาร เช่น ตลาดนางเลิ้ง ตลาดสะพานขาว หรือจุดที่ใช้ไปทำงาน เช่น สหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ทำเนียบรัฐบาล อันนี้เป็นเรือสามระบบที่เราจะทำ
ท่าเทียบเรือตลาดเทวราชกุญชร
ในส่วนของรางที่ทำเพิ่มเติมคือ รถไฟฟ้า ตอนนี้ทาง กทม. มีโครงการทำรถไฟฟ้าสายสีเทากับเส้นบางนา-สุวรรณภูมิ สายสีเทาคือรับโจทย์จากรัฐบาลมาว่า ทำยังไงให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ผมว่าปัญหาตอนนี้ที่คนยังไม่ใช้รถสาธารณะ เพราะยังมีความสะดวกไม่เพียงพอ เส้นนี้ก็จะตอบโจทย์ของคนที่อยู่แถววัชรพล ต้นสายอยู่ที่วัชรพล วิ่งยาวไปเอกมัย-รามอินทรา ผ่าน CDC, Central Eastville แล้วมาเข้าเส้นทองหล่อ แล้วจะไปชนกับ BTS สถานีทองหล่อ ซึ่งจุดนี้จะเป็นหมู่บ้านใหม่เยอะมาก ตรงนี้ก็ช่วยให้คนจากรามอินทราเข้ามาเมืองง่ายขึ้น ภายใน 3-4 ปี ข้างหน้าการเดินทางในกรุงเทพฯ จะมีความเชื่อมโยงกันขึ้น และมีความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น แต่ในช่วง 1-2 ปีนี้ อาจต้องทนรถติดกันนิดหนึ่ง งบประมาณทางรัฐบาลก็สนับสนุน อันไหนที่ทาง กทม. ทำได้ก็จะใช้งบประมาณของเราเอง อันนี้ไหนที่ติดขัดเราก็จะขอการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ช่วยครับ
เส้นทางเชื่อมโยง
เส้นทางเชื่อมโยง
เส้นทางเชื่อมโยง
เส้นทางเดินเรือ
มีคำคัดค้าน ติชมมาทาง กทม. บ้างไหม? คำติชมส่วนใหญ่ก็จะเป็น ทำไมช้าจัง หรือ ในระหว่างก่อสร้างประชาชนค่อนข้างเดือดร้อน จะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าใน กทม. กำลังก่อสร้างอยู่ และเป็นเส้นทางหลัก ๆ ทั้งลาดพร้าว พหลโยธิน รามอินทรา แจ้งวัฒนะ พวกนี้รถจะติด หน้าที่ของทาง กทม. ก็จะลงไปดูในการก่อสร้าง ว่าถ้าช่วงไหนยังไม่ก่อสร้าง ต้องขยับเพิ่มทางจราจร ตรงนี้เราจับมือกับทางตำรวจอย่างเคร่งครัดเพื่อแก้ปัญหาจราจร เช่น การตัดเกาะหน้าศาลอาญารัชดาเพื่อเลี้ยวเข้าซอยเสือใหญ่ได้เลย ในอนาคตก็จะการปาดเกาะเพิ่มเติมทางซอยร่วมฤดี
สำรวจพื้นที่สวนลุมฯ
คนกรุงต้องเห็นใจกัน สิ่งที่อยากเพิ่มก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่แก้ที่สามัญสำนึกของคนกรุงเทพฯ ให้รู้จักสิทธิ รู้จักหน้าที่ รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น ปัญหามันแก้ไม่ได้ อย่างแผงลอยทุกคนรู้อยู่แล้วว่าตรงไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ถ้าทุกคนรู้และเคารพผมว่ามันจะดีขึ้น อยากให้ทุกคนคิดอยู่เสมอว่ามันสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นหรือเปล่า ในส่วนเจ้าหน้าที่เราก็จะพยายามตรวจสอบอย่างเต็มที่

คนส่วนใหญ่จะคิดว่านิดเดียวไม่เป็นไรหรอก 

ใช่ คนส่วนใหญ่จะคิดแบบนั้น เพราะบ้านเราอะไรนิดหน่อยเราก็ยอมให้กัน แต่ว่าในการยอมแบบนั้นทำให้ปัญหามันพอกขึ้นทุกวัน จนกระทั่งเราไปดูแลคนขายของมานาน เขาก็จะบอกว่าทำไมมาทำ เราขายมาตั้ง 30 ปี แต่ 30 ปีที่ขายมาเราไม่มีสิทธิขาย เราขายด้วยความผิดกฎหมาย จนเราเข้าใจว่าเราขายได้ คือถ้าสังคมคิดอย่างนี้หมดบ้านเมืองเราก็คงไปไม่ได้ หรือการขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า คือทุกคนรู้อยู่แล้วว่าห้ามวิ่ง แต่ทุกคนเอาความสะดวกเข้าว่า ไม่อยากกลับรถไกล ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ มันก็ทำให้เกิดอันตราย ทรัพย์สินของกรุงเทพฯ เสียหาย จุดนี้อยากให้ทุกคนตระหนักกัน 

จัดระเบียบทางเดินเท้า
คนมักจะบ่นว่าทางเท้าเราไม่เหมาะกับคนเดินและคนพิการ อันนี้มันเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ซึ่งทางท่านผู้ว่าฯ และทางผมเราจะพยายามค่อย ๆ แก้ไปเรื่อย ๆ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่ทำมานานและไม่ได้วางแผนอย่างมีประสิทธิภาพพอ ซึ่งตอนนี้ทางประชาชนกำลังจ้องดูเปรียบเทียบกับทางต่างประเทศ ซึ่งผมว่าในอนาคตมันจะต้องดีขึ้น แต่ตอนนี้ถ้าเราจะทำทางเท้าใน กทม. ให้สวย งบประมาณมันใช้มากและเป็นสิ่งสำคัญผมว่าคงทยอยทำเป็นเฟส ๆ ไปเรื่อย ๆ
จัดระเบียบทางเดินเท้า
ถ้าเราอยากจะบอกอะไรกับ กทม. สามารถส่งมาได้ทางไหนบ้าง ทาง กทม. มีที่ร้องเรียนหลายจุด ถ้าร้องเรียนทางท่านผู้ว่าฯ ก็เป็น Line: อัศวินคลายทุกข์ ถ้าเป็นตัวผมเองก็จะมี เฟสบุ๊กแฟนเพจ สกลธี ภัททิยกุล ส่งปัญหาเข้ามาทางอินบ็อกซ์ได้ ถ้าอันไหนแก้ได้ผมก็จะแก้ให้เลย อย่างเรื่องระเบียบเรียบร้อย ถ้าส่งมาเช้า บ่ายผมก็ส่งต่อแก้ให้เลย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยงบประมาณหรือการต้องไปสำรวจก็จะขอเวลานิดหนึ่ง รับรองว่ามีการแก้ไขให้และต้องเห็นปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นครับ