ชาวโซเชียลฮือ! วอนทุกคนให้ความสนใจ หลังพะยูนเกยตื้น สภาพซูบผอม

พะยูนเกยตื้น สภาพซูบผอม หญ้าทะเลเหลือน้อย ทำโซเชียลฮือ! วอนทุกคนให้ความสนใจ ถึงเวลาต้องฟื้นฟูแล้วหรือยัง?

น่าตกใจไม่น้อย! กับสภาพของ พะยูน ลอยมาเกยตื้น ในพื้นที่ท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง จ.ตรัง

ซึ่งเพจ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ ได้โพสต์รูปภาพของพะยูนตัวหนึ่ง มีสภาพร่างกายที่ซูบผอม และรูปของหญ้าทะเลที่มีเหลืออยู่น้อยนิด

เพจ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ ยังระบุข้อความด้วยว่า

“จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก

ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆ

สภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ

ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ”

หลังโพสต์ไม่นาน ชาวโซเชียลต่างช่วยกันแชร์ และแท็กหาหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อต่างๆ ด้วย

ไม่นานทางเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้เข้ามาคอมเมนต์ใต้โพสต์ดังกล่าว ระบุว่า

“เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. จนท.ทช ได้รับแจ้งเหตุพบพะยูนเกยตื้นจากเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ได้เดินทางไปรับซากพะยูนที่เกยตื้นบริเวณเกาะลิบง เพื่อนำกลับมาชันสูตร หาสาเหตุการตาย เมื่อทราบสาเหตุแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบครับ ในปี พ.ศ.2567 จังหวัดตรังพบพะยูนเกยตื้น 3 ตัว

สำหรับในส่วนของปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งคณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่ เพื่อมาเก็บข้อมูล รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมทั้งได้วางแผนลงพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 10-16 มีนาคม เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด”

จากข้อมูลที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ในปี 2567 พื้นที่จังหวัดตรัง พบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 3 ตัว นั้น ถือว่าไม่น้อยเลย เพราะนี่เพิ่งจะต้นปีเท่านั้นเอง เรื่องนี้เป็นอีก 1 เรื่องใหญ่ที่ต้องจับตาและหาทางเร่งด่วนในการอนุรักษ์พะยูน รวมถึงการฟื้นฟูหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูนด้วย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ทำให้ พะยูน อาจเหลือแค่ชื่อ