เปิดความหมาย ‘ชะลอม’ บนโลโก้ APEC 2022 เลิศมาก

เปิดแรงบันดาลใจการออกแบบ ‘ชะลอม’ บนโลโก้ของนิสิตไทย ให้ทั่วโลกเห็นกับการประชุม APEC 2022 ครั้งแรกในไทย

ใกล้เข้ามาแล้วค่ะ สำหรับการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือที่หลายคนเคยได้ยิน คือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และจะจัดขึ้นในวันที่ 16-18 พ.ย. 65

ลูกเพจเคยสังเกตไหมคะว่า สัญลักษณ์ของเอเปค มีลักษณะเหมือนกับ ‘ชะลอม’ เครื่องจักสานชนิดหนึ่งของไทย ทำจากเส้นตอกไม้ไผ่ที่ประสานกัน มีความเหนียวแน่น แข็งแรงแต่ยืดหยุ่น และคงทน สื่อถึงการช่วยเศรษฐกิจภูมิภาคให้มั่นคง มั่งคั่ง จึงเป็นสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาอย่างยาวนาน

และชะลอมก็ยังเป็นโลโก้ของเอเปคด้วย ซึ่งโลโก้นี้ถูกออกแบบโดย นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาใช้ชะลอม ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของ ในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทย จากรุ่นสู่รุ่น ชะลอมยังบ่งบอกถึงความเป็นไทย และการสานของชะลอมเปรียบเหมือนนานาประเทศได้ร่วมมือกันไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ชะลอมยังสื่อถึงหัวข้อหลัก “OPEN CONNECT BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทย ได้แก่ 

OPEN – ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง 

CONNECT – ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือสิ่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง

BALANCE– ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy-BCG)

เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT 

การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุลระหว่างกัน

ชะลอมเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากตอกไม้ไผ่ สำหรับใส่ของใช้ต่าง ๆ ของกิน มีปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกไผ่บาง ๆ สานเป็นลวดลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่าง เหลือตอกยืนที่ปากไว้ เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากันเพื่อเป็นหูหิ้ว โดยจะใช้ใบไม้  ใบตองกรุภายในก่อนใส่ผลไม้เพื่อไม่ให้ผลไม้มีรอยช้ำ หรือตกหล่นจากตาของชะลอม เป็นภาชนะจักสานที่ใช้กันทั่วไปทุกภาค

การสานชะลอม เริ่มจากสานส่วนก้นให้ได้ขนาดตามต้องการ หากมีขนาดใหญ่ก็จะเสริมไม้กะแหล้งขัด 2-3 อันที่บริเวณก้นชะลอมแล้วสานขึ้นมาเรื่อยๆ ให้ได้สัดส่วนพองาม แล้วปล่อยส่วนปลายตอกไว้เพื่อรวบมัดหลังการบรรจุสิ่งของที่ต้องการ หรืออาจแยกตอกออกเป็น 2 ส่วนผูกโค้งเป็นหูหิ้วเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

เนื่องจากชะลอมเป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของเป็นการชั่วคราวสำหรับเดินทางไกล หรือใส่สิ่งของที่เป็นของฝาก การสานชะลอมจึงเป็นการสานแบบง่ายๆ ใช้เวลาไม่นาน แค่เพียงพอต่อการบรรจุสิ่งของที่ต้องการเท่านั้น ซึ่งชะลอมก็มีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งของที่ใช้บรรจุ

ขอบคุณข้อมูลจาก APEC 2022

คลิปอีจันแนะนำ
วัยรุ่นวีลแชร์ เริงร่าฝุ่นตลบ