วธ. สั่งสอบ “กัมพูชา” เคลมวรรณกรรมไทย ขึ้น UNESCO

“ปลัดวัฒนธรรม” เร่งสอบปม “กัมพูชา” หยิบวรรณกรรมไทย นำไปขึ้นทะเบียน UNESCO เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”

(14 ก.ค. 68) เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว โพสต์ข้อความถึงประเด็นที่ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีสังคมออนไลน์พบ “รายชื่อวรรณกรรมไทย” หลายรายการ ถูกนำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ “กัมพูชา”

โพสต์ระบุว่า

ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก JanJao K. Sisprakaew โพสต์ข้อความระบุว่า

“นี่คือวรรณกรรมไทย ที่เขมรนำไปสอดไส้ขึ้นทะเบียนต่อ Unesco และได้รับการขึ้นทะเบียนไปเรียบร้อย”

รายชื่อวรรณกรรมเหล่านี้ ถูกแต่งขึ้นโดยชาวไทย แต่ถูกเขมรนำไปขึ้นทะเบียนต่อ Unesco ในหัวข้อ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ Cultural heritage of Cambodia’

วรรณกรรมไทยเหล่านี้ ถูกเขมรเคลมเป็นของตนเองเพื่อใช้ในการแสดง Royal Ballet of Cambodia

โดยเขมรอ้างว่า รายชื่อวรรณกรรมเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522-2545 จากละครเรื่อง “พระทอง นางนาค” (ละครพื้นบ้าน ที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 2473) ในสมัยของ สมเด็จพระสีสุวัถติ์ มุณีวงศ์

รายชื่อวรรณกรรม ตามหัวข้อต่าง ๆ ที่มีผู้แต่งเป็นคนไทย มีดังนี้

1. ไกรทอง – พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2 นิทานพื้นบ้าน

2. พระสมุท – พระนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

3. อุณรุท – พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 มาจากบทละครในเรื่องอุณรุทสมัยอยุธยาตอนปลาย

4. พระสังข์ – พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2 บทละครนอก

5. พระทิณวงศ์ – นิทานพื้นบ้านภาคกลาง จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2458

6. จันทโครพ – ผู้แต่ง สุนทรภู่

7. พระเวสสันดร – ผู้แต่ง เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

8. อิเหนา – พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2 บทละครรำ

9. อนิรุทธกินรี – พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 มาจากบทละครเรื่องอุณรุทสมัยอยุธยาตอนปลาย

10. ศุภลักษณ์ – มาจากตอนศุภลักษณ์อุ้มสม เรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1

11. รามเกียรติ์ – พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 และ ในหลวงรัชกาลที่ 2

14. พระสุธน-มโนราห์ – บทละครสมัยอยุธยา มาจากพระสุธนชาดก แต่งเป็นคำฉันท์ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาอิศรานุภาพ

15. กากี – คำกลอนวรรณคดี เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บทเห่กล่อมพระบรรทม แต่งโดยสุนทรภู่

16. สีดาลุยเพลิง – จากรามเกียรติ์ตอนสีดาลุยไฟ พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1

17. จองถนน – จากรามเกียรติ์ตอนจองถนน พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1

20. ทิพสังวาล – หนังสืออ่านเล่นในสมัยรัชกาลที่ 5

22. ลักษณวงศ์ – แต่งโดยสุนทรภู่

ล่าสุด (14 ก.ค. 68) นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยต่อเรื่องดังกล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนบางแห่ง โดยอ้างว่า มีรายชื่อวรรณกรรมไทยหลายรายการ ถูกนำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับองค์การยูเนสโกโดยประเทศอื่นๆ นั้น กระทรวงฯ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประสานความร่วมมือกับกรมศิลปากร , กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว

เนื่องจากกระบวนการพิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ กระทรวงวัฒนธรรม ขอยืนยันว่า หากได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนแล้ว จะรายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว