ระวัง โรคไข้กาฬหลังแอ่น ขณะนี้ผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดกระบี่

เตือน! โรคไข้กาฬหลังแอ่น พบผู้เสียชีวิต ที่จังหวัดกระบี่ และพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฎิบัติการว่าพบเชื้อก่อโรคไข้กาฬหลังแอ่น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการรักษา

โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นในภาคใต้

สถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่น ล่าสุด วันนี้ (1 ธ.ค.65) รายงานข่าวล่าสุด พบผู้เสียชีวิตโรคไข้กาฬหลังแอ่น ที่สถานบำบัดแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ และมีผู้ป่วยที่ยืนยันเชื้อว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น จากห้องปฎิบัติการณ์และอยู่ในกระบวนการรักษา ขณะนี้อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังแต่ยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม และได้นำผู้ที่ใกล้ชิดหรือได้สัมผัส แยกตัวเพื่อสังเกตอาการแล้ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่าสถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่น ในเขตสุขภาพที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 พบผู้ป่วยจำนวน 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โรคนี้ติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิด ทางน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วย อาการป่วยคือ เริ่มจาก มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำ จนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ จึงเรียกว่าไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น เชื้อมีระยะฟักตัว 2-10 วัน โดยเฉลี่ย 3-4 วัน จึงฝากเตือนประชาชน ให้เฝ้าระวังป้องกันโรคดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลาย จากผู้อื่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หรือปรุงอาหาร รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ

นพ.ไกรสร กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เกิดได้ในบุคคลทุกวัย เชื้อนี้พบในลำคอของคนปกติ ประมาณร้อยละ 5 โดยไม่ทำให้เกิดโรค ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการโรค พบได้ประปรายตลอดทั้งปี และมีการระบาดในบางพื้นที่เป็นครั้งคราว

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลัง ไม่จำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ควรฉีดในภาวะต่อไปนี้ 1.มีการระบาดจากสายพันธุ์ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 2.ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา หรือประเทศในตะวันออกกลาง  3.บุคคลที่ปฏิบัติงานประจำในห้องปฏิบัติการที่อาจมีการฟุ้งกระจายของเชื้อ Neisseria meningitidis ที่อยู่ในรูปของสารละลาย

รู้จักโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis, Meningococcemia)

โรคไข้กาฬหลังแอ่น นับเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดความกังวลแก่ประชาชนว่า โรคนี้จะมีอาการอย่างไร จะมีวิธีการรักษาอย่างไร มีโอกาสเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด จะมีโอกาสติดต่อมาสู่ตนเองหรือไม่ จะมีวิธีใดป้องกันการติดโรคได้หรือไม่

โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน มีชื่อทางการแพทย์ว่า Meningococcemia (การติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นในเลือด) หรือ Meningococcal meningitis (เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitides ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบรูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ หรือ Neisseria gonorrheae แต่ไม่ทำให้เกิดกามโรคและมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า มีอัตราการตายสูงกว่า

-ชื่อโรคไข้กาฬ มีเหตุจากความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้ในเวลาอันสั้น 

-ชื่อหลังแอ่น เนื่องจากลักษณะของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการชักเกร็ง หลังแข็งแอ่น ไม่เกี่ยวข้องกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด

โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนน้อยในแต่ละปี ไม่ค่อยเกิดการระบาดเหมือนโรคระบาด (epidemic) อื่นๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่  

เชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น สามารถพบอยู่ในลำคอของคนปกติส่วนน้อยได้ โดยไม่เกิดโรคขึ้น เรียกว่า การเป็นพาหะของเชื้อ เชื้อสามารถถ่ายทอดได้โดยทางเดินหายใจ ผ่านการไอ, จาม, เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไปสู่ผู้ใกล้ชิด ผู้ที่มีปัจจัยภายในตนเองผิดปกติบางอย่าง เช่น ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้ หรือ เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิต หรือระบบประสาทส่วนกลางได้ จึงก่อให้เกิดโรคขึ้น

เมื่อพบผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรายงานต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากจัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง

โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง คือ 

1. ไข้

2. ผื่น

3. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ตามลำดับที่พบมากไปน้อย ผู้ป่วยอาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 จาก 3 อย่างนี้ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันได้มาก อาจมีอาการค่อยเป็นค่อยไป จนถึงรุนแรงรวดเร็ว ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

อาการที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง, ขา, เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง, ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตา, หรือ มือได้ หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง, อาเจียน, คอแข็ง อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือสับสนได้ ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

ในรายที่รุนแรง เช่น ในกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การไหลเวียนเลือดล้มเหลว  ความดันเลือดต่ำ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวหรือดำคล้ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด ร่วมด้วย มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อัตราตายสูงถึงร้อยละ  70-80 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในเลือด อัตราตายต่ำกว่ามาก ประมาณร้อยละ 2-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีมีส่วนช่วยลดอัตราการตายลงได้ส่วนหนึ่ง

หากเด็กหรือหนุ่มสาว ผู้ใหญ่อายุน้อย ที่มีอาการของไข้เฉียบพลัน มีผื่นที่เป็นจ้ำเลือดคล้ายรูปดาวกระจาย หรือมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบข้างต้น จะต้องนึกถึงโรคไข้กาฬหลังแอ่นไว้ด้วยเสมอ ควรไปรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันโรคมี 2 วิธีหลัก คือ

1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค

2. การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ 

อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, 

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=703

 ขอบคุณภาพ / กรมควบคุมโรค

คลิปอีจันแนะนำ
ถึงวันอำลา ปล่อย ‘ทับเสลา’ กลับสู่ป่า