
จากกรณี (12 มี.ค. 68) ที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ออกประกาศชี้แจง ถึงแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา และการจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ที่ไม่มีในบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสินค้านวัตกรรมไทย และเป็นไปตามนโยบายรัฐ

(1 พ.ค. 68) นายแพทย์เกษม ตันติผลาชีวะ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเป็นการตั้ง 3 คำถามไปถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อความชัดเจน เกี่ยวกับการตีความหนังสือชี้แจงแนวทางการจัดซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งถูกใช้เป็นแนวทางบังคับให้โรงพยาบาลรัฐฯ จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก แม้มีราคาสูงกว่าภาคเอกชน
โพสต์ระบุว่า

เรียน ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
ตามหนังสือที่อ้างถึง เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา และการจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ซึ่งได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย
ข้าพเจ้าในฐานะแพทย์ผู้ใช้ยาและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการตีความหนังสือฉบับนี้ ได้สอบถามผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีผู้ใดให้ความกระจ่างได้ อีกทั้งไม่มีผู้ใดประสงค์จะดำเนินการต่อ ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องขอความกระจ่างจากท่านในประเด็นต่อไปนี้
1. หนังสือฉบับนี้ออกในนามของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ใช่หรือไม่ หากเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ สมควรนำเสนอไปยังกรมบัญชีกลางและปลัดกระทรวงการคลังก่อน แม้จะเป็นบุคคลเดียวกันก็ตาม เพื่อให้ปลัดกระทรวงฯ มีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป จึงจะมีผลในทางกฎหมายใช่หรือไม่
2. โรงพยาบาลของรัฐต่างนำข้อความในหนังสือฉบับนี้ ไปตีความว่า การสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ซื้อจากองค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทยหรือโรงงานเภสัชกรรมทหารเป็นหลัก แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่ายาชนิดเดียวกันของบริษัทเอกชนมากก็ตาม ไม่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นเจตนารมณ์ของคณะกรรมการฯ หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในหนังสือฉบับดังกล่าว
3. การตีความตามที่กล่าวในข้อ ๒ ทำให้เกิดการผูกขาดในทางธุรกิจและไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมใช่หรือไม่ ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลของรัฐต้องซื้อยาแพงกว่าที่ควร มีผลกระทบเกิดความสิ้นเปลืองต่อประชาชนที่จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง และผู้ที่ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาจากกองทุนประกันสุขภาพ ซึ่งรวมถึงกรมบัญชีกลางด้วย
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ ได้มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกับนายแพทย์เกษม อาทิ “มองว่าองค์การเภสัชไม่ควรผลิตยาทั่วไปเพื่อแข่งขันกับเอกชนโดยไม่จำเป็น” “ควรมีบทบาทหลักในการผลิตยาจำเป็นที่เอกชนไม่ผลิต” เป็นต้น






ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก Kasem Tantiphlachiva