
จากกรณี พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล สังกัดหน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งถูกครูฝึกและพลทหารรุ่นพี่ ทําร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในหน่วยฝึกทหารใหม่ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งแพทย์ระบุสาเหตุว่า ร่างกายถูกทำร้ายอย่างรุนแรง สมองบวม ปอดฉีก ปอดรั่ว ซี่โครงหัก 2 ข้าง ไหปลาร้าและกระดูกสันหลังหัก

โดยล่าสุด (27 พ.ค. 68) ทนายเกิดผล แก้วเกิด โพสต์ถึงความคืบหน้าคดีดังกล่าว ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้มีคําพิพากษาชั้นต้นให้จําคุกผู้กระทําผิดที่เกี่ยวข้อง รวม 13 คน โดยครูฝึกได้รับโทษจำคุก 20 ปี และ 15 ปี ขณะที่พี่เลี้ยงทหารเกณฑ์ ได้รับโทษจำคุก คนละ 10 ปี โพสต์ระบุว่า
จากกรณีที่ พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล หรือ น้องเน อายุ 18 ปี สมัครใจเข้ารับการเป็นทหารเกณฑ์ ถูกครูฝึก ‘ซ่อมวินัย’ เสียชีวิต หลังเกณฑ์ทหารไม่ถึง 3 เดือน แพทย์ระบุสมองบวม ซี่โครงหัก 2 ข้าง ปอดฉีก ปอดรั่ว ไหปลาร้าหัก กระดูกสันหลังหัก
ต่อมาพนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้อง ครูฝึกและผู้ช่วยครูฝึกรวมทั้งหมด 13 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย และ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและป้องกันการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ 2565 มาตรา 5
ซึ่งในวันนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุป เนื้อความ ว่า
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นครูฝึกทหารใหม่ ของค่ายนวมินทร์ โดยมีจำเลยที่ 3 ถึง 13 เป็นทหารเกณฑ์และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นผู้ช่วยครูฝึกทหารเกณฑ์
ร่วมกันทำร้าย ผู้ตาย หลายครั้ง หลายเวลา ต่างกรรมต่างวาระ อย่างทารุณโหดร้าย จนผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อ เนื่องจากพยานส่วนใหญ่เป็นทหารใหม่และเป็นทหารเกณฑ์ในค่ายนวมินทร์ที่จำเลยทั้ง 13 สังกัดอยู่ และเห็นเหตุการณ์ซึ่งถือว่าเป็นประจักษ์พยานโดยตลอด หากไม่เป็นความจริง พยานซึ่งเป็นทหารเกณฑ์และเป็นทหารใหม่ก็คงไม่กล้าใส่ความหรือใส่ร้ายป้ายสีทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเครื่องกับจำเลยทั้ง 13 แต่อย่างใด
นอกจากนั้น คำให้การ ของจำเลย ทั้ง 13 ก็ยังมีพิรุธสงสัย และมีการต่อสู้โดยปฏิเสธลอยๆ ทั้งๆที่ ในชั้นพนักงานสอบสวนเมื่อ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า จำเลยทั้ง 13 เรื่องการทำร้ายร่างกาย พลทหาร ให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้ง 13 ให้การรับสารภาพ โดยไม่ให้รายละเอียดใดๆ
แต่ต่อมาภายหลังจากที่พลทหารเสียชีวิต เมื่อพนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา เพิ่มเติม เป็นข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้ง 13 ก็ให้การปฏิเสธลอยๆ โดยไม่ให้รายละเอียด
ซึ่งในทางพิจารณาคดี พยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยก็รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ได้มีส่วนร่วมกันกระทำความผิดจริงตามฟ้อง เพียงแต่ต่างคนต่างทำ แต่ระยะเวลาและสถานที่ชัดเจนที่สุดว่าพลทหารเสียชีวิตในเวลาต่อมาเกิดจากการกระทำรุนแรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นครูฝึกได้ใช้ไม้ ทำร้ายโดยการทุบตี พลทหารจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
ศาลจึงมีคำพิพากษา ว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 13 มีความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ 2565 มาตรา 5 และมาตรา 35 วรรค 3 พิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 20 ปี , จำคุกจำเลยที่ 2 15 ปี , จำคุกจำเลยที่ 3 ถึง 13 คนละ 10 ปี
ในส่วนของพ่อแม่พลทหารที่เสียชีวิตยังติดใจคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษน้อยเกินกว่าที่กระทำ ควรได้รับโทษมากกว่านี้ และจะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป และในส่วนคดีแพ่ง หลังคัดคำพิพากษาได้แล้วผมจะยื่นฟ้องกองทัพบกเป็นจำเลยเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนให้กับพ่อแม่ของน้อง ตามกฎหมายต่อไป

ต่อมา (27 พ.ค. 68) พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงคำตัดสินคดีดังกล่าว ระบุว่า คดีดังกล่าวถือเป็นการกระทําผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง ละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ฝ่าฝืนนโยบายสําคัญของผู้บัญชาการทหารบก
ในนามของกองทัพบก ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงขอบคุณกระบวนการยุติธรรม ที่ยังคงเป็นที่พึ่งอย่างดีให้สังคม ในการดําเนินการเพื่อให้คนที่ประพฤติไม่ดีได้รับผลพวงจากสิ่งที่กระทํา ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นใคร อยู่ในสถานะเป็นบุคลากรขององค์กรใด
สําหรับกรณีนี้ เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อนร่วมองค์กร ที่เสมือนเป็นเพื่อนร่วม สมาชิกของครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่กองทัพบกไม่สามารถยอมรับได้ และจะร่วมกับทุกส่วนต่อสู้ให้ถึงที่สุด เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน
คดีนี้ ทางหน่วยต้นสังกัดและกองทัพบกได้สนับสนุนทุกวิถีทาง เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทํา ความผิดทั้งหมดอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะกลไกกฎหมายทางวินัยทหาร ได้ถูกใช้อย่างเต็มระบบหลังเกิดเหตุทันที มีการควบคุมตัวผู้กระทําผิด ด่าเนินการสอบสวนและลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทําผิด รวมถึงผู้บังคับบัญชา โดยตรงในฐานะผู้ที่ต้องคอยกํากับดูแล
นอกจากนี้ ในระหว่างการสอบสวน มีผู้กระทําผิดบางรายพยายามหลบหนีออกจากหน่วยทหาร และเจตนาหลีกเลี่ยงกระบวนการยุติธรรม แต่ทางต้นสังกัดได้บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตํารวจเพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีจนสําเร็จ
กองทัพบกยังให้ความร่วมมือกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและเจ้าหน้าที่ตํารวจอย่างใกล้ชิดในการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม จนนําไปสู่ผลคําพิพากษาของศาลในวันนี้ ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของกองทัพบก ที่ไม่ประสงค์ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และ มุ่งมั่นดำเนินการทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบสูงสุดต่อสังคม
