นักวิจัยจีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจไม่มีไข้-ซีทีสแกนไม่พบความผิดปกติ

นักวิจัยจีนพบ ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่มีอาการไข้หรือผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ผิดปกติ

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือน โดยขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั่วโลกสูงกว่า 3,174 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูง 92,560 รายแล้ว ส่วนผู้ป่วยที่หายแล้ว 50,691 คน

ภาพจากอีจัน
3 มี.ค. 63 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า คณะนักวิจัยจีนนำโดยผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจชื่อดัง ค้นพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจไม่มีอาการไข้หรือผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ที่ผิดปกติแสดงออกมา การค้นพบดังกล่าวเผยแพร่ผ่านบทความในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจของจีนชื่อว่า จงหนานซาน เป็นผู้เขียนหลัก

นักวิจัย พบว่า ไข้และไอเป็นอาการที่พบมากที่สุด ส่วนอาการที่พบไม่บ่อยคืออุจจาระร่วง ท้องเสีย โดยผู้ติดเชื้อร้อยละ 43.8 ในการศึกษาครั้งนี้ มีไข้ก่อนเข้าโรงพยาบาล หลังอาการของโรคเริ่มรุนแรง ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.7 ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่มีอาการไข้เกิดขึ้นบ่อยกว่ากรณีติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) จึงอาจทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีไข้หลุดรอดการเฝ้าระวังที่มุ่งเน้นการตรวจวัดไข้เป็นหลักไปได้

ภาพจากอีจัน
การศึกษาครั้งนี้ ยังอธิบายลักษณะอาการทางคลินิกของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผล จำนวน 1,099 ราย ซึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 552 แห่งของภูมิภาคระดับเทศบาลนคร เขตปกครองตนเอง และมณฑลทั่วสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 30 แห่ง ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง 157 รายจาก 877 ราย มีผลพบว่ามีจุดขาวพร่าในปอด (GGO) หลังการเอกซเรย์ทรวงอกด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่พบความผิดปกติในผู้ติดเชื้อ

ขณะเดียวกันยังตรวจพบภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ต่ำ (Lymphocytopenia) ในผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ โดยผู้ติดเชื้อในการศึกษาครั้งนี้มีอายุเฉลี่ย 47 ปี มีระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเฉลี่ย 4 วัน ร้อยละ 41.9 เป็นผู้หญิง และอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1.4 ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของทางการ นอกจากนั้นมีผู้ติดเชื้อในการศึกษาครั้งนี้เพียงร้อยละ 1.9 ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรง ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้อาศัยในอู่ฮั่นร้อยละ 72.3 เคยติดต่อใกล้ชิดกับคนจากอู่ฮั่น และร้อยละ 31.3 เคยเดินทางเยือนอู่ฮั่นอันเป็นศูนย์กลางการระบาด

จากผลการศึกษาอาจตรวจพบไวรัสโควิด-19 ในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงน้ำลายและปัสสาวะของผู้ติดเชื้อบางราย จึงแนะนำให้มีการดำเนินมาตรการปกป้องสุขภาพที่เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามนักวิจัยจีนกลุ่มนี้ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของ “นักแพร่เชื้อ” (super-spreader)