กทม. เตรียมแผนการสอนแบบปกติ-สลับวันเรียน ให้ รร. ในเขต กทม.

โฆษก กทม. เผย เตรียมแนวทางการเรียน-สอน 2 รูปแบบ ให้ รร. ในเขต กทม. ชี้ 1 ห้องเรียนไม่เกิน 20 คน

วันนี้ (8 มิ.ย. 63) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2563 ว่า ในที่ประชุมวันนี้ สำนักการศึกษา รายงานการเตรียมความพร้อมแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. 63 นี้ โดยโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครฯ แบ่งตามจำนวนนักเรียนได้ 3 ขนาด ได้แก่
1. โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่เกิน 400 คน
2. โรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 401-800 คน และ
3. โรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 801-1500 คน

ภาพจากอีจัน
โดยสำนักการศึกษาได้เตรียมแนวทางการเรียนการสอน 2 รูปแบบ ดังนี้ – โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 400 คน มีทั้งหมด 204 โรงเรียน จะจัดให้มีการจัดการเรียนการสอนตามปกติ โดยให้นักเรียนมาโรงเรียนทุกวัน และเรียนตามตารางเรียนในชั่วโมงหรือคาบเรียนปกติ ใน 1 ห้องเรียน มีจำนวนนักเรียน 20 คน โดยประมาณ และให้มีการรักษาระยะห่างทางสังคมทั้งเวลาเรียน ช่วงเวลาพัก และการรับประทานอาหาร
ภาพจากอีจัน
– โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 233 โรงเรียน จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1 แบบสลับวันเรียนทั้งหมด ใช้กับโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนตั้งแต่ 401-800 คน เช่น ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษา ตอนต้นมาเรียนวันอังคาร วันพฤหัส ส่วนระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาเรียนวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ โดยในช่วงที่นักเรียนไม่ได้มาเรียนในวันปกติจะใช้วิธีการเรียนรู้ทาง Online และ On Air เข้ามาทดแทนการเรียนในห้องเรียน โดยให้ครูเข้ามาควบคุมดูแล ในการจัดการเรียนรู้ และมอบแบบฝึกหัด การบ้าน ใบงานหรือกิจกรรมให้ไปทำที่บ้าน และให้นับเวลาการเรียนช่องทางดังกล่าวชดเชยการเรียนในช่วงเวลาปกติได้ด้วย
ภาพจากอีจัน
– แบบที่ 2 แบบมาเรียนปกติร่วมกับสลับวันเรียนทั้งหมด โดยจะใช้กับโรงเรียนขนาดใหญ่ นักเรียน 801-1,500 คน และโรงเรียนขนาดใหญ่มากที่มีนักเรียนมากกว่า 1,500 คน คือ ระดับอนุบาล และระดับประถมศึกษาตอนต้น ให้มีการจัดการเรียนการสอนตามปกติ สำหรับระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาให้สลับวันมาเรียน ทั้งนี้ให้สถานศึกษา พิจารณาการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม โดยตั้งแต่วันที่ 1-20 มิ.ย. 63 สำนักการศึกษาจะได้ตรวจความพร้อมของโรงเรียนที่จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานอีกครั้ง
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ส่วนของการวัดและประเมินผลระดับปฐมวัย จะใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรม การพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน โดยครูจะประสานของความร่วมมือผู้ปกครองในการร่วมประเมินพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใช้การประเมินหลาย เช่น การเข้าชั้นเรียน การสังเกตพฤติกรรม การประเมินผลงาน การสัมภาษณ์ พูดคุย ซักถาม การทำแบบทดสอบออนไลน์ การทดสอบด้วยข้อสอบแบบเขียนตอบหรือความเรียงแบบออนไลน์ เป็นต้น
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ สำนักการศึกษา ได้เตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอื่นๆ ได้แก่ – มาตรการดูแลระหว่างการเดินทางมาโรงเรียน กรณีเดินทางด้วยรถตู้โดยสาร ให้คนขับรถสวมใส่หน้ากากอนามัยและทำความสะอาดเบาะที่นั่งก่อนรับ-ส่งนักเรียนทุกครั้ง หรือหากผู้ปกครอง มาส่งนักเรียนที่โรงเรียน ต้องมีการจัดพื้นที่สำหรับผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียนและมีการคัดกรองอุณหภูมิทุกครั้ง – มาตรการสำหรับกิจกรรมหน้าเสาธง กรณีโรงเรียนขนาดเล็กและมีพื้นที่ สามารถให้นักเรียนร่วมกิจกรรมได้ปกติภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง กรณีมีพื้นที่จำกัด ให้นักเรียนเข้าแถวที่โต๊ะในห้องเรียน หรือเข้าแถวหน้าห้องเรียน – มาตรการในห้องเรียน ให้มีการจัดโต๊ะเรียนจำนวนไม่เกิน 20 ตัว โดยแต่ละตัวเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ให้ทำความสะอาดห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งก่อนเรียน พักกลางวันและหลังเลิกเรียน สำหรับการนอนของนักเรียนปฐมวัย ให้งดการใช้เครื่องปรับอากาศ อาจใช้พัดลมแทน – มาตรการสำหรับการรับประทานอาหาร ให้โรงเรียนพิจารณาจัดที่รับประทานอาหารทั้งในห้องเรียนและโรงอาหาร และเหลื่อมเวลาตามบริบทและความพร้อมของโรงเรียน โดยในโรงอาหารต้องมีฉากพลาสติกใสกั้น และเว้นระยะนักเรียน แม่ครัว พนักงาน ต้องใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ สำหรับการจัดการเรียนการสอนของเด็กพิเศษ(เรียนร่วม) ให้จัดการเรียนการสอนแบบปกติ นักเรียนสามารถมาเรียนได้ทุกวัน โดยมีการเว้นระยะห่าง และกำหนดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียน 6 คน ต่อ 1 ห้องเรียน