มาตรการควบคุมสุขอนามัยเดลิเวอรี่ หรือมาตรการจำกัดอาชีพคนขับ & ร้านค้า?

ฟังเสียงสะท้อนของคนขับรถส่งอาหาร (Food Delivery) และร้านค้ารายย่อย กับผลกระทบที่จะได้รับ หาก พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบกิจการการให้บริการส่งอาหารถูกบังคับใช้จริง (ทั้งที่ยังไม่เคยเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ)

ตามที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันว่าอยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ มาตรการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการจัดส่งอาหาร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535

ภาพจากอีจัน
เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับร่างประกาศดังกล่าว แล้วถ้าเกิดร่าง พ.ร.บ. ตัวนี้มีผลบังคับใช้จริง จะเกิดอะไรขึ้น?
ก่อนอื่นต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า มาตรการที่จะร่างขึ้นมานั้นเริ่มมีการพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนขับส่งอาหารเดลิเวอรี่ โดยอีจันขอยกตัวอย่างหลักๆ มา 7 ข้อ คือ 1. ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารต้องกำหนดมาตรการคัดเลือกแหล่งอาหารต่างๆ ที่ได้รับใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่พนักงานในท้องถิ่น หรือหน่วยงานราชการ หรือแหล่งผลิตอาหารที่สามารถระบุที่มาของอาหารได้ 2. ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารจะต้องเลือกให้บริการแต่ละแหล่งอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอาหารถูกสุขลักษณะป้องกันการปนเปื้อน 3. ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารต้องมีระบบคัดกรองผู้ส่งอาหาร ตรวจสอบประวัติตรวจสุขภาพอย่างละเอียดว่าไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ไม่เป็นพาหะนำโรค 4. ผู้จัดส่งอาหาร(คนขับส่งอาหาร) ต้องตรวจสุขลักษณะทุกวัน มีการตรวจเล็บ ผม ผิวหนังบริเวณมือและนิ้วทุกวัน เครื่องแต่งกายต้องสะอาด เป็นระเบียบและน่าเชื่อถือ 5. ผู้จัดส่งอาหาร(คนขับส่งอาหาร) ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้สัมผัสอาหารจากหน่วยงานจัดการอบรมที่กำหนด 6. ผู้จัดส่งอาหาร (คนขับส่งอาหาร) จะต้องเปิดบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีสภาพดี ไม่ชำรุด 7. ผู้จัดส่งอาหาร (คนขับส่งอาหาร) ต้องมีบัตรประจำตัวส่วนบุคคลสำหรับผู้ให้บริการ มีใบอนุญาตขับขี่ และมีประกันภัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ อ่านจบแล้ว คิดว่าใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ? ก็คงหนีไม่พ้น…ผู้จัดส่งอาหาร หรือ คนขับส่งอาหาร ต้องบอกก่อนว่า ในช่วงที่ประเทศเราได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หลายคน หลายงาน หลายธุรกิจก็ต้องปิดตัวลงไป หรือกลับไปทำงานที่บ้านเพื่อรักษารักษาระยะห่างและความปลอดภัยของตัวเอง แต่ยังมีบางธุรกิจที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ นั่นคือ การส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ เมื่อไวรัสโควิด-19เริ่มซา เศรษฐกิจของประเทศยังไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม ทุกคนเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่แบบ New Normal ยังคงต้องสั่งอาหารกินเหมือนเดิม ถ้าหากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีการประกาศใช้มาตรการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการจัดส่งอาหารแบบ ‘ขาดความเข้าใจและไม่ฟังเสียง’ ของผู้ประกอบการร้านค้า และ คนทำงานส่งอาหาร ขึ้นมาล่ะ ?ถามว่า จะมีผลกระทบต่อคนทำอาชีพนี้ขนาดไหน ?
แน่นอนว่า มีอยู่แล้ว
อีจันเลยอยากให้ลองเปิดหัวใจฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของคนที่ทำอาชีพนี้ ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. กันบ้างพี่บุญชู หนึ่งในคนขับส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ เล่าว่า ทำอาชีพนี้มาก็เกือบจะ 4 ปีแล้ว ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาดส่งผลกระทบหนักมาก ร้านอาหารปิดตัวลง แม้จะมีคนสั่งมากขึ้นแต่งานกลับน้อยลง เพราะมีคนตกงานที่หันมาทำอาชีพนี้มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เสริม แต่พี่บุญชูบอกว่า “เพราะอาชีพส่งอาหารนี้แหละที่ช่วยให้สามารถพยุงตัวเองและครอบครัวไว้ได้ อาจจะได้เงินไม่มากแต่ก็พอเลี้ยงชีพให้ผ่านวิกฤติไปได้” พี่บุญชูพอจะทราบคร่าว ๆ เกี่ยวกับการร่างมาตรการนี้ มองว่าเป็นเจตนาดี แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะหลายข้อยังไม่มีข้อสรุปในเชิงปฏิบัติว่า หน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น การตรวจสุขลักษณะหรือการวัดอุณหภูมิ ซึ่งปกติตนเองก็ทำอยู่แล้วทุกวันก่อนรับงาน หรืออย่างตอนเข้าห้างหรือร้านอาหารก็จะมีการตรวจวัดไข้ตลอดอยู่แล้ว และบริษัทที่ให้บริการหรือแอปต่างๆ ก็มีการกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยและความสะอาด ทั้งยังมีการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่เสมอ พี่บุญชูเลยมองว่า ถ้ากฎหมายนี้บังคับใช้จริงขึ้นมาจะทำให้เกิดปัญหาทันที ทั้งคนขับที่อาจจะถูกบีบให้ออกจากระบบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านค้าร้านอาหารที่อาจจะต้องหลุดออกจากระบบเป็นจำนวนมาก เหมือนเป็นการปิดช่องทางทำมาหากินกันไปเลย จากช่องโหว่ที่คนทำกฎหมายขาดความเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจนี้ แต่ถ้ามองเจตนาก็ถือว่ามีเจตนาที่ดี แต่การปฏิบัติคงเป็นไปได้ยากและจะส่งผลเสียต่อคนมากกว่าผลดี ซึ่งตรงนี้มองว่าอยากให้ผู้ที่รับผิดชอบการออก พ.ร.บ.นี้ รับฟังเสียงของคนทำงานหน้างานจริงอย่างเราด้วย ต่อด้วย พี่น้อง สมาชิกอีกคนของการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ เล่าให้อีจันฟังด้วยแววตาที่แฝงไปด้วยความสงสัยว่า มาตรการที่เตรียมร่างนี้ได้เห็นผ่านๆ ทางเว็บไซต์ข่าวเอย เฟซบุ๊กในกลุ่มคนขับเอย อ่านจบมีความรู้สึกแปลกใจ มันคล้าย ๆ “คนที่ล้มแล้วโดนซ้ำเติม” ส่วนตัวมองว่า หลายข้อไม่เกี่ยวกับการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เลย เราเป็นผู้ส่ง มีหน้าที่แค่ไปรับ จับแค่ถุงที่บรรจุอาหารแล้วนำไปส่งลูกค้า จะให้เปิดถุงหรือกล่องอาหารเพื่อตรวจสอบคงไม่ใช่ นอกจากจะไม่ใช่หน้าที่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่อาหารจะปนเปื้อนได้ เพราะร้านอาหารแพ็คอาหารไว้อย่างดีแล้ว จะให้คนส่งไปเปิดดูถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากกว่า นอกจากนี้ แอปต่างๆ ก็มีระบบรับข้อร้องเรียนของผู้บริโภคอยู่แล้ว ถ้าลูกค้าพบอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ตรงตามที่สั่ง ก็สามารถเรียกร้องเพื่อชดเชยหรือคืนเงินได้ เค้ามีมาตรการรองรับตรงนี้อยู่แล้ว“หรือในส่วนที่เราจะต้องตรวจสอบเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ก็ดูค่อนข้างจะอยู่นอกเหนือหน้าที่ของคนส่งอาหาร เพราะเราเป็นแค่คนส่ง ไม่ได้เป็นคนปรุง ไม่สามารถไปถามเขาได้ว่า หมู ผัก ไข่ไปซื้อมาจากที่ไหน ตลาดไหน” พี่น้องบอก เลยเกิดข้อสงสัยว่า อาชีพของเราไปเกี่ยวข้องกับมาตรการที่จะร่างขึ้นและบังคับใช้เร็วๆ นี้ด้วยหรือ ? หากกังวลถึงความสะอาดของผู้ส่ง พี่น้องยืนยันว่าก่อนที่ตนจะเริ่มงานในแต่ละวันนั้น ทางบริษัทจะให้กรอกข้อมูลในระบบเพื่อตรวจสอบและยืนยันสุขภาพ หากใครที่ไม่กรอกก็ไม่สามารถเริ่มงานได้ และถ้าคนไม่สบายจริงๆ ก็คงไม่มีใครออกไปรับงาน ส่วนภาชนะที่บรรจุอาหาร (กล่องใส่อาหารท้ายรถ) ไปให้ลูกค้า พี่น้องยืนยันว่ามีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้สกปรก แม้จะเป็นคนขับ แต่เราเองก็เคยใช้บริการสั่งอาหาร ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่แล้ว หากผู้ส่งสกปรก ลูกค้าคนไหนเขาจะอยากกิน อีกข้อคือมองว่า ไม่ใช่หน้าที่ผู้ส่งที่จะต้องไปอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เราเป็นแค่คนส่ง ไม่ได้ประกอบอาหาร สัมผัสแต่ถุงหรือบรรจุภัณฑ์ภายนอก มันควรเป็นหน้าที่ของร้านอาหารไม่ใช่หรือที่ต้องอบรม?“มาตรการที่จะร่างขึ้นมา หลายส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนส่งอาหารสักนิด แถมยังมีผลกระทบต่อคนขับส่งอาหารแน่นอน ทั้งเรื่องขั้นตอนหรือความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นจากข้อบังคับต่างๆ ค่าใช้จ่ายจากการตรวจโรค ค่าเสียเวลาในการเดินทางเพื่อไปตรวจสุขอนามัยทุกวัน ค่าเสียโอกาสในการทำงานแต่ละวัน ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ?”
เหมือนมาตรการที่กำลังจะถูกร่างขึ้นมานี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนขับส่งอาหาร แต่อาจจะกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยด้วยไม่แพ้กัน ไปฟังความรู้สึกของแม่ค้าพ่อแม่ค้ากันบ้างว่า ถ้าหากร่าง พ.ร.บ. นี้ถูกบังคับใช้จะมีผลกระทบกับพวกเขามากน้อยแค่ไหน ? อีจันสอบถามแม่ค้า พ่อค้า พวกเขาเล่าให้ฟังว่า รู้สึกโกรธอยู่เหมือนกัน แต่ละข้อที่จะร่างขึ้นมานั้นทำยากมาก บางข้อก็สามารถทำได้ แต่บางข้อมองว่ามันยาก ในส่วนของร้านค้ารายย่อยจะกระทบหนักตรงที่ “ผู้จัดส่งอาหารจะต้องเลือกอาหารที่มาจากร้านที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานฯ และสามารถระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้” ข้อนี้ร้านค้าที่อยู่ตามข้างถนนเอย รถเข็นเอย ต่อให้ทำอาหารอร่อยหรือสะอาดแค่ไหน แบบนี้ก็เจ๊งไปกันหมด“นอกจากนี้ยังต้องระบุแหล่งที่มาของสินค้าอีกด้วย เชื่อว่าร้านค้าส่วนใหญ่ต้องไปรับของมาจากตลาดอยู่แล้ว เอาตรงๆ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยไปซื้อของตามตลาดสดกันหมด 100% เพราะเราสามารถเลือกได้ หยิบจับตามราคาได้ ต่อรองราคาได้ แตกต่างจากที่ห้างต่อรองราคาไม่ได้”
มันเหมือนเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับทางร้านค้าซะมากกว่า ถ้าหากมีมาตรการควบคุมออกมา ตายลูกเดียว! ไหนจะแบกรับลูกจ้าง พนักงาน ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะมีการบริการเดลิเวอรี่ และอยากจะเรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแลการออก พ.ร.บ. นี้ รับฟังความคิดเห็นจากร้านค้ารายย่อยด้วย เพราะเราคือกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบไม่แพ้กันจากมาตรการอันนี้ แล้วเราจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง ?
นี่คือความรู้สึกจากมุมของคนที่ทำอาชีพนี้จริงๆ
เเต่เราคงต้องรอดูกันก่อนว่า ท้ายที่สุดแล้ว มาตรการนี้จะออกมาในรูปเเบบไหน เสียงเล็กๆ ของคนหาเช้ากินค่ำอย่างคนขับหรือร้านค้าข้างทางจะดังไปถึงคนกำหนดร่างนี้หรือไม่?